สังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงประชากรและครอบครัว

กลุ่มวิจัยที่ 1: สังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงประชากรและครอบครัว

สังคมไทยมีการเปลี่ยนผ่านทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรวดเร็ว  นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2482 – 2488)  ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ “การเปลี่ยนผ่านทางประชากร” โดยเริ่มจากการลดลงอัตราตาย อันเป็นผลจากการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข บวกกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจสังคม และความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาด้านต่างๆ   ทำให้อัตราตายลดลงอย่างรวดเร็ว และ“อายุคาดเฉลี่ย” ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราเกิดยังคงสูงอยู่ ทำให้อัตราเพิ่มประชากรไทยสูงมากและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดแรงกดดันอันนำไปสู่นโยบายการวางแผนขนาดครอบครัวในระดับชาติที่มีประสิทธิผล จนครอบครัวมีขนาดเล็กลงในเวลาอันสั้น

บัดนี้ภาวะเจริญพันธุ์โดยรวมของคนไทยได้ลดลงมาจนถึงจุดที่ต่ำกว่าระดับทดแทนแล้ว กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้โครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นประชากรเยาว์วัยเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นประชากรสูงวัยในปัจจุบันอันเป็นจุดเปลี่ยนทางประชากรครั้งสำคัญอีกจุดหนึ่งในสังคมไทย คือ การเป็นสังคมผู้สูงอายุ  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นขนานไปกับกระแสการย้ายถิ่นที่เข้มข้นและซับซ้อน

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรแล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ที่โถมเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ ค่านิยมเกี่ยวกับครอบครัวและการแต่งงานเริ่มเปลี่ยนไป สิ่งนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันครอบครัว ทำให้มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบและเวลาในการเริ่มต้นสร้างครอบครัว การดำรงและการสืบทอดครอบครัว รวมถึงการปรับบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว 

การเปลี่ยนแปลงทางประชากร และการเปลี่ยนแปลงครอบครัว เป็นสองมิติที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อกันและกัน  ตัวอย่างเช่น การวางแผนครอบครัวเพื่อจำกัดภาวะเจริญพันธุ์ หรือการชะลอการแต่งงาน อาจเป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อการเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนประชากรและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  แต่ขณะเดียวกัน การมีครอบครัวขนาดเล็กอันเนื่องมาจากการวางแผนครอบครัว และการชะลอการแต่งงานนั้น ก็ส่งผลต่อรูปแบบ บทบาท และการทำหน้าที่ของครอบครัวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยเหตุนี้ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและครอบครัวจึงไม่อาจแยกจากกันได้ แต่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจไปด้วยกัน

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและครอบครัวมาโดยตลอด และกำหนดให้การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและครอบครัวต่อสังคมไทย เป็นกลุ่มงานวิจัยหลักกลุ่มหนึ่งของสถาบันฯ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การผลิตองค์ความรู้ด้านประชากร ครอบครัว และสังคม ที่อยู่บนฐานของการวิจัย เพื่อถ่ายทอดไปสู่สาธารณะและผู้กำหนดนโยบาย ให้เกิดความเข้าใจและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม  ประเด็นงานวิจัยในขอบข่ายความสนใจของกลุ่มงานวิจัยนี้ มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางประชากร และส่วนที่เป็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางครอบครัว ทั้งสองประเด็นนี้เชื่อมโยงกับสังคมไทยอย่างไร

ส่วนที่ 1:  การเปลี่ยนแปลงทางประชากร
ที่ผ่านมา  มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางโดยนักวิชาการทั้งจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และจากหน่วยงานอื่น  ในเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุและรูปแบบของการลดลงของอัตราเกิด แต่งานวิจัยที่มุ่งทำความเข้าใจเรื่องผลที่ตามมาของการมีครอบครัวขนาดเล็ก ที่มีต่อบุคคล ครอบครัว และสังคมไทย ยังมีไม่มากพอ  ในการพัฒนานโยบายที่เหมาะสมสำหรับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นสังคมไทยในปัจจุบัน  เราต้องการองค์ความรู้ที่รอบด้านบนหลักฐานทางการวิจัยว่า สังคมจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการมีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การศึกษาวิจัยในส่วนนี้จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในด้านการเฝ้าติดตามและฉายภาพแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงภาวะเจริญพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การศึกษาวิจัยอีกส่วนหนึ่งจะมุ่งทำความเข้าใจผลที่จะตามมาของการมีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทน ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค

ส่วนที่ 2:การเปลี่ยนแปลงของมิติต่าง ๆ ของครอบครัว
งานวิจัยในส่วนนี้มุ่งทำการศึกษาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว แต่เน้นเป็นพิเศษในมิติสำคัญ 4 มิติ คือ 1) การสร้างครอบครัวและการแตกแยกของครอบครัว (Family Formation and Family Dissolution) 2) โครงสร้าง บทบาท และการทำหน้าที่ของครอบครัว (Structure and Function of the Family) และ 3) การตอบสนองของครอบครัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม (Family Responses to Socio-economic Changes) และ 4) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงครอบครัวต่อประชากรวัยต่างๆ และต่อสังคม (Impacts of Family Changes on its Members and Society)

งานวิจัยในกลุ่มสังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงประชากรและครอบครัว