Seminar no. 1233
27 September 2023 Time 12.30 – 13.30 hrs.
Speaker: ดวงวิไล ไทยแท้
แม้ว่าในประเทศไทยมีการศึกษาปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการรับรองโครงการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์อยู่บ้าง แต่ข้อมูลวิจัยที่พบส่วนใหญ่จำกัดเพียงการศึกษาเฉพาะบางสาขาวิชาและไม่มีการเปรียบเทียบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในยื่นขอการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของโครงการวิจัยที่มาจากต่างสาขาวิชาในการศึกษาเดียวกัน ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของโครงการวิจัยที่ผ่านการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จำแนกตามกลุ่มสาขาวิชาของผู้ยื่นโครงการวิจัย รวมถึงวิเคราะห์ผลการประเมินในแต่ละด้านของโครงการวิจัย และวิเคราะห์ปัจจัยเอื้อและอุปสรรคต่อความสำเร็จของผู้วิจัยในแต่ละกลุ่มสาขาวิชา และเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของปัจจัยเอื้อและอุปสรรคต่อความสำเร็จของผู้วิจัยในแต่ละกลุ่มสาขาวิชา จากโครงการที่ขอรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
การวิเคราะห์นี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (mixed methods) โดยใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ ข้อมูลผลการพิจารณาโครงการวิจัย จากแบบรายงานผลการประเมินจริยธรรม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 – ธันวาคม พ.ศ. 2564 และวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้างกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบประสบการณ์เชิงลึก การรับรู้ และความคิดเห็น ต่อปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากคณะกรรมการฯ รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากระบวนการยื่นขอจริยธรรมการวิจัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากผลการวิเคราะห์ พบว่า ผู้วิจัยทุกกลุ่มสาขาวิชาได้รับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ทุกกลุ่มสาขาวิชาไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินความครบถ้วนของเอกสารชี้แจงผู้เข้าร่วมการวิจัย และ จำนวนและวิธีการกำหนดตัวอย่างมากที่สุด โดยปัจจัยเอื้อสำคัญที่ส่งผลต่อการผ่านการรับรอง ได้แก่ ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ในการทำวิจัยของผู้วิจัย นอกจากนี้ปัจจัยระดับองค์กรมีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนให้บุคลากรทำวิจัยได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ การขาดความชัดเจนและขาดรายละเอียดของข้อเสนอโครงการวิจัย
ผลการวิเคราะห์นี้เสนอแนะว่า การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยฯ เช่น การออกแบบเว็บไซต์ให้น่าสนใจ ง่ายต่อการใช้งาน การใช้ระบบรับส่งเอกสารอัตโนมัติ การสร้างกลไกเพิ่มความรู้ด้านจริยธรรมการวิจัย ผ่านการจัดอบรมจริยธรรมการวิจัย รวมถึงกำหนดให้การผ่านการอบรมฯ เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การจบการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการจริยธรรมฯ ให้มีความรู้เพิ่มเติมและทันต่อสถานการณ์ มีความสำคัญที่จะช่วยให้การพิจารณาโครงการวิจัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น