โครงการความอยู่ดีมีสุขของลูก และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลสูงวัย กับการย้ายถิ่นของพ่อแม่ในบริบทของสามจังหวัดภาคใต้

โครงการความอยู่ดีมีสุขของลูก และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลสูงวัย กับการย้ายถิ่นของพ่อแม่ในบริบทของสามจังหวัดภาคใต้

ระยะเวลาดำเนินงาน: ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564
สถานะ: กำลังดำเนินการ
หัวหน้าโครงการ: อารี จำปากลาย
ที่ปรึกษาโครงการ: อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

นักวิจัย: ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ , กาญจนา ตั้งชลทิพย์

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบระยะยาวของการย้ายถิ่นของพ่อแม่ที่มีต่อความอยู่ดีมีสุขของลูก และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลเด็กในถิ่นต้นทาง โดยเฉพาะครัวเรือนย้ายถิ่นที่ผู้สูงวัยมีบทบาทในการดูแลหลานที่อยู่ในวัยเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลการศึกษาจะนำไปสู่การค้นพบคำตอบว่าการย้ายถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อความอยู่ดีมีสุขของเด็ก และของผู้ดูแลสูงวัยหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงการทำความเข้าใจและเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน และผู้ดูแลสูงอายุที่อยู่ในครัวเรือนย้ายถิ่นด้วย

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) เด็กและเยาวชน อายุ 0-24 ปี จากครัวเรือนเดิมที่เคยถูกสำรวจในโครงการวิจัยเรื่องการย้ายถิ่นกับความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ (M&M) ในปี 2557 (2) ผู้ปกครอง/ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้รับผิดชอบครัวเรือน และ (3) ผู้ดูแลหลัก/ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนในกลุ่มที่ 1 จำนวน 1,102 ครัวเรือน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งหมด 18 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2565

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เป็นแบบสัมภาษณ์ จำนวน 6 ชุด ได้แก่ (1) แบบสัมภาษณ์ข้อมูลครัวเรือน สอบถามข้อมูลของครัวเรือน จำนวนสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะทางประชากร สถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง (2) แบบสัมภาษณ์ข้อมูลผู้ดูแลเด็ก สอบถามข้อมูลของผู้ดูแลเด็ก สภาวะสุขภาพกาย สภาวะสุขภาพจิต ความสุข คุณภาพชีวิต บทบาทความช่วยเหลือในครอบครัว และการได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว (3) แบบสัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็กอายุ 13-17 ปี ผู้ดูแลเด็ก/วัยรุ่นเป็นผู้ให้ข้อมูล สอบถามข้อมูลของเด็ก/วัยรุ่น ความสัมพันธ์ของเด็ก/วัยรุ่นกับพ่อแม่ การดูแลเด็ก/วัยรุ่น สภาวะสุขภาพจิตของเด็ก/วัยรุ่น การฝึกระเบียบวินัย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่/ผู้ดูแล และเด็ก/วัยรุ่นเป้าหมาย การดูแลและความประพฤติของเด็ก/วัยรุ่น (4) แบบสัมภาษณ์เด็กอายุ 0-12 ปี ผู้ดูแลเด็กอายุ 0-12 ปี เป็นผู้ให้ข้อมูล สอบถามข้อมูลของเด็กอายุ 0-12 ปี และการอยู่อาศัยในปัจจุบันของเด็ก การได้อยู่กับพ่อแม่ การได้ดื่มนมแม่ การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การฝึกระเบียบวินัย การดูแลเด็ก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่/ผู้ดูแลและเด็ก การดูแลและความประพฤติของเด็ก สุขภาพโดยทั่วไปของเด็ก แบบประเมินพัฒนาการของเด็ก 0-6 ปี สุขภาพจิตของเด็ก และการเรียนของเด็ก (5) แบบสัมภาษณ์เด็กวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี เด็กวัยรุ่นเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง สอบถามข้อมูลของเด็กวัยรุ่น การศึกษา การทำงาน ความใฝ่ฝัน การใช้เวลา ประสบการณ์การได้รับการเลี้ยงดู บทบาทครอบครัว การฝึกระเบียบวินัย ความผูกพันและการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่/ผู้ดูแล และเด็ก สุขภาพกายและพฤติกรรมสุขภาพ สุขภาพจิต แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น พฤติกรรมการติดเกม อิทธิพลของสื่อสังคม/โซเชียลมีเดีย ประสบการณ์จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทัศนคติเกี่ยวกับการย้ายถิ่นไปทางานต่างประเทศ พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุรา พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และการใช้สารเสพติด และ (6) แบบสัมภาษณ์เยาวชน (19-24 ปี) เยาวชนเป็นผู้ตอบคำถามด้วยตัวเอง ประกอบด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับข้อมูลของตัวเยาวชนเอง การเรียน การทำงาน การใช้เวลา ประสบการณ์การได้รับการเลี้ยงดู บทบาทครอบครัว การฝึกระเบียบวินัย สุขภาพกายและพฤติกรรมสุขภาพ กิจกรรมทางกาย สภาวะจิตใจ พฤติกรรมการติดเกม อิทธิพลของสื่อสังคม/โซเชียลมีเดีย ประสบการณ์จากเหตุการณ์ความไม่สงบ การสร้างครอบครัว ทัศนคติเกี่ยวกับการย้ายถิ่นไปทางานต่างประเทศ พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุรา พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และการใช้สารเสพติด

ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการบันทึกข้อมูลแบบสัมภาษณ์ลงในระบบ และคาดว่าจะสามารถวิเคราะห์ผลการศึกษาเบื้องต้นได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2565

วัตถุประสงค์:

เพื่อตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของการจัดการของครัวเรือนย้ายถิ่นที่ผู้สูงวัยมีบิบาทในการดูแลหลานที่อยู่ในวัยเด็ก และเยาวชน ทั้งความอยู่ดีมีสุขของเด็กและของผู้สูงวัย โดยต่อยอดจากการสำรวจที่ผ่านมา 2 รอบ ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สิ่งที่ได้จากโครงการนี้จะเป็นความรู้ใหม่เรื่องผลกระทบระยะยาวของการย้ายถิ่นของพ่อแม่ที่มีต่อลูกและผู้สูงวัยในถิ่นต้นทางที่ยังไม่มีการศึกษามาก่อน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ และความรู้จากการวิจัยนี้จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อค้นรูปแบบที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับตัวและการจัดการของครอบครัวที่พ่อแม่จำเป็นต้องไปทำงานที่อื่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรวัยเด็ก กลุ่มวัยที่ประเทศชาติต้องฝากอนาคตไว้ให้ พร้อมๆกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยที่นับจะเป็นส่วนสำคัญ และมีคุณค่ามากขึ้นในการขับเคลื่อนสังคมไทย