พิธีร่วมลงนามแสดงปฏิญญากับภาคีเครือข่าย ภายใต้แนวคิด “Move more Get more Together”

ภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีร่วมลงนามแสดงปฏิญญากับภาคีเครือข่าย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และชุมชนท้องถิ่น ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การเล่นกีฬา และการออกกำลังกาย ภายใต้แนวคิด “Move more Get more Together”

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ณ ห้อง MR 208 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. พร้อมด้วยภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ได้แก่ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กองนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามแสดงปฏิญญา เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ยึดมั่นในอุดมการณ์ และเป้าหมายร่วมกันในการสานพลังบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อฟื้นฟูให้คนไทยทุกกลุ่มทุกคนมีโอกาส และตระหนักในการเข้าถึงความรู้ พื้นที่สุขภาวะ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อการป้องกันโรคภัยและมีสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านกาย จิตปัญญา และสังคม

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อํานวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปและสังเคราะห์องค์ความรู้จากการประชุมวิชาการในครั้งนี้เพื่อนำไปสู่แนวทางการฟื้นฟูกิจกรรมทางกายของคนไทย โดยได้สรุปประเด็นสำคัญจากการปาฐกถาในช่วงเริ่มต้นของการประชุมวันแรก ในหัวข้อเส้นทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย: จากอดีต สู่ปัจจุบัน และอนาคต, นโยบายส่งเสริมสุขภาพของ สสส. กับยุทธศาสตร์ 3 Actives เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายบนวิถีใหม่, Healthy Lifestyle และการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายที่สอดคล้องกับแผนกิจกรรมทางกายระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีการสรุปบทความวิชาการและประสบการณ์จากงานวิจัยและการดำเนินโครงการด้านกิจกรรมทางกายของภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งภาคีจากต่างประเทศที่ได้นำเสนอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในบริบทที่แตกต่างกัน จำนวนทั้งสิ้น 38 บทความ โดยบทความเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทยที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3+1 Actives พร้อมกับชี้ให้เห็นช่องว่างในการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทยที่ผ่านมาในแต่ละด้าน และมิติความพร้อมของนโยบายและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยด้านนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีความพร้อม 70.3 ผลลัพธ์ 32.6 ด้านสังคม มีความพร้อม 75.7 ผลลัพธ์ 48.8 ด้านประชากร มีความพร้อม 70.5 ผลลัพธ์ 63.0 จากความพร้อมด้านนโยบายและผลลัพธ์การดำเนินงานดังกล่าว ภาคีเครือข่ายส่งเสริมกิจกรรมทางกายจึงต้องมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนต่อไป เพื่อสร้างระบบที่จะผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางกายของคนไทยที่เพียงพอ