ภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีร่วมลงนามแสดงปฏิญญากับภาคีเครือข่าย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และชุมชนท้องถิ่น ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การเล่นกีฬา และการออกกำลังกาย ภายใต้แนวคิด “Move more Get more Together”
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ณ ห้อง MR 208 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. พร้อมด้วยภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ได้แก่ กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กองนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามแสดงปฏิญญา เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ยึดมั่นในอุดมการณ์ และเป้าหมายร่วมกันในการสานพลังบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อฟื้นฟูให้คนไทยทุกกลุ่มทุกคนมีโอกาส และตระหนักในการเข้าถึงความรู้ พื้นที่สุขภาวะ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อการป้องกันโรคภัยและมีสุขภาวะที่ดี ทั้งด้านกาย จิตปัญญา และสังคม
นอกจากนี้ รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อํานวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปและสังเคราะห์องค์ความรู้จากการประชุมวิชาการในครั้งนี้เพื่อนำไปสู่แนวทางการฟื้นฟูกิจกรรมทางกายของคนไทย โดยได้สรุปประเด็นสำคัญจากการปาฐกถาในช่วงเริ่มต้นของการประชุมวันแรก ในหัวข้อเส้นทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย: จากอดีต สู่ปัจจุบัน และอนาคต, นโยบายส่งเสริมสุขภาพของ สสส. กับยุทธศาสตร์ 3 Actives เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายบนวิถีใหม่, Healthy Lifestyle และการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายที่สอดคล้องกับแผนกิจกรรมทางกายระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีการสรุปบทความวิชาการและประสบการณ์จากงานวิจัยและการดำเนินโครงการด้านกิจกรรมทางกายของภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งภาคีจากต่างประเทศที่ได้นำเสนอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในบริบทที่แตกต่างกัน จำนวนทั้งสิ้น 38 บทความ โดยบทความเหล่านี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทยที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3+1 Actives พร้อมกับชี้ให้เห็นช่องว่างในการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทยที่ผ่านมาในแต่ละด้าน และมิติความพร้อมของนโยบายและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยด้านนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีความพร้อม 70.3 ผลลัพธ์ 32.6 ด้านสังคม มีความพร้อม 75.7 ผลลัพธ์ 48.8 ด้านประชากร มีความพร้อม 70.5 ผลลัพธ์ 63.0 จากความพร้อมด้านนโยบายและผลลัพธ์การดำเนินงานดังกล่าว ภาคีเครือข่ายส่งเสริมกิจกรรมทางกายจึงต้องมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนต่อไป เพื่อสร้างระบบที่จะผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางกายของคนไทยที่เพียงพอ