การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการข้อมูลและพัฒนาข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด สำหรับการขับเคลื่อนงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เมื่อวันที่ 3-4 เมษายน 2566 นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการข้อมูลและพัฒนาข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด สำหรับการขับเคลื่อนงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอนปี 2565 ณ อาคารดงรัก วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ ทีมส่งยิ้ม และ กสศ. ได้จัดกระบวนการชวนคิดชวนคุยนำโดย รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา, นางสาวรัตนา ด้วยดี, อาจารย์ทับทิม เป็งมล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน และคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ นายปัญญา ชูเลิศ, นางสาวชุติมา อยู่สมบูรณ์, นายณรากร วงษ์สิงห์ และนางสาวอัญญารัตน์ คณะวาปี เป็นวิทยากรนำคุยด้วยกระบวนการกลุ่ม รูปแบบ World Café ในการร่วมกันรวบรวมฐานทรัพยากรที่ทุกหน่วยงานมีอยู่แล้ว มาจัดระบบเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน โดยมีการร่วมมือกันค้นหาต้นทุนและทรัพยากรของจังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านข้อมูล /สารสนเทศ 2. ด้านการดำเนินงาน (งบประมาณ คน หน่วยงาน องค์กร) 3. ด้านองค์ความรู้/ชุดความรู้/นวัตกรรม และ 4. ด้านนโยบาย /ทุนทางสังคม เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการ และการตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในทั้งสองวันนี้เป็นกระบวนการค้นหาต้นทุนในทุก ๆ มิติที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่จะทำให้เห็นโอกาส รวมถึงเหตุและผลของปัญหาที่เป็นข้อมูลสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ และนำมาใช้ในการวางแผนการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของพื้นที่จังหวัด

การประชุมดังกล่าว เป็นไปเพื่อการพัฒนา “กลไก” ให้เกิดความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาที่ตรงกับบริบทของประชากรและพื้นที่ เพื่อพัฒนาแผน และแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลระดับจังหวัด และสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านการเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ให้เกิดความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ของหน่วยงาน ในการพัฒนาแผนและแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลระดับจังหวัด และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

#กสศ #การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ #จังหวัดแม่ฮ่องสอน #ABE