การประกาศแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย ในงานประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565 “The 1st Thailand Physical Activity Conference 2022 (TPAC2022)”
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และผ่านระบบออนไลน์ ได้มีการประกาศเปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย (พ.ศ. 2566 – 2573) ในการประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565 “The 1st Thailand Physical Activity Conference 2022 (TPAC2022)” ที่จัดโดยภาคีด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยได้รับเกียรติจาก ดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคุยปาฐกถาพิเศษ เรื่องความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย เพื่อจุดเน้นสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มวัยเด็กและเยาวชน โดยต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย ด้วยการสร้าง “พลังแห่ง การเล่น สู่พลังแห่งชีวิต” พร้อมกับเชิญชวน กระทรวง และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดัน นำยุทธ์ศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย ไปสร้างเสริมสุขภาพให้เด็กและเยาวชนไทยมีสุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรง
พร้อมกันนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุปรีดา อคุลยานนท์ (ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)) ได้มีการกล่าวถึงทิศทางการส่งเสริมสุขภาพและกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย โดยมีข้อแนะนำว่าต้องเริ่มจากการรู้ปัญหา ติดตาม และแก้ไขเพื่อความยั่งยืนของการมีกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน
อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. ฟีโอนา บูล (Prof. Dr. Fiona Bull) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย จากองค์การอนามัยโลก (Head of Unit, Physical Activity, World health organization) ร่วมกล่าวแสดงความยินดี และร่วมเป็นสักขีพยานในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทยในครั้งนี้ พร้อมทั้งทิ้งแนวคิดในการนำไปปฏิบัติตาม โดยเน้นที่การให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินนโยบายพร้อมทั้งการลงมือปฏิบัติจริง มีการติดตามและประเมิณผลจะสามารถขับเคลื่อนแผนต่อไปได้อย่างยั่งยืน
แผนดังกล่าวถูกจัดทำและพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของคณะวิจัยนำโดย อาจารย์ ดร.อารีกุล อมรศรีวัฒนกุล จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล, รองศาสตราจารย์ นพ. อภิชัย วรรธนะพิศิษฐ์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, อาจารย์ทรงทรรศน์ จินาพงศ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และ รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ 6 ประเด็น เรียกโดยย่อว่า “EMPACT” ซึ่งเป็นทิศทางการดำเนินงานตามแผนต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของการประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565