บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊คและผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นตอนกลาง (อายุ 15-18 ปี) ทั้งทางด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ สัมพันธภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ เก็บข้อมูลปฐมภูมิด้วยแบบสอบถามแบบมีโครงสร้างจากกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี หรือวัยรุ่นตอนกลางที่มีการใช้งานเฟซบุ๊ค จำนวน 108 คน ในพื้นที่เฝ้าระวังทางประชากร อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม สถิติที่ใช้ในข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวน (Analysis of Variance :ANOVA) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation) ผลการวิจัยพบว่าวัยรุ่นมีวัตถุประสงค์ของการเล่นเฟซบุ๊คเพื่อพูดคุยและติดตามความเคลื่อนไหวของเพื่อน โดยมีการใช้งานโดยเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง และวัยรุ่นกว่าครึ่งมีการใช้งานเฟซบุ๊คเป็นประจำทุกวัน โดยช่วงเวลาที่วัยรุ่นใช้งานเฟซบุ๊คบ่อยที่สุดคือช่วงเวลาหัวค่ำตั้งแต่ 18.00-21.00 นาฬิกา โดยรูปแบบการใช้งานที่พบบ่อยที่สุดคือการเข้าไปกด Like ในสิ่งที่เพื่อน ๆ แบ่งปัน รองลงมาคือการสนทนาหรือส่งข้อความถึงเพื่อน ส่วนในเรื่องของคุณภาพชีวิตพบว่าวัยรุ่นมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพร่างกาย และด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับปานกลางถึงดี แต่ด้านจิตใจและด้านสัมพันธภาพทางสังคมยังมีบางส่วนที่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับที่ไม่ดี เมื่อวิเคราะห์เป็นรายด้านเรื่องวัตถุประสงค์ของการใช้งานพบว่าหากใช้งานเฟซบุ๊คในด้านการศึกษาจะพบว่ามีคุณภาพชีวิตดีในด้านจิตใจ ด้านสัมพันธภาพทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม (sig=.026, .006 และ .011 ตามลำดับ) ระยะเวลา (จำนวนเดือน) การเริ่มใช้งานเฟซบุ๊คครั้งแรกจนถึงปัจจุบันจากการวิเคราะห์ correlation พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับคุณภาพชีวิตโดยรวม (r=0.208) ส่วนพฤติกรรมอย่างอื่น เช่น ชั่วโมงการใช้เฉลี่ยต่อวัน ความถี่การใช้จำนวนวัน/สัปดาห์ และช่วงเวลาในแต่ละวันที่เข้าใช้เฟซบุ๊คมากที่สุด ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
คำสำคัญ : พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊ค, คุณภาพชีวิต, วัยรุ่นตอนกลาง
[1] นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
May 27, 2015 Time: 12:30 – 13:30 hrs.