ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนไทยหลังทศวรรษ 1990

Abstract

นับแต่หลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ภูมิทัศน์ที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน (nongovernmental organization: NGO) มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การเสวนาครั้งนี้จะชวนขบคิดถึงความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนไทยใน 3 มิติสำคัญ​ ได้แก่ การจัดการปกครองสาธารณะ (public governance) การให้ทุน และการจัดองค์กร ภารกิจในการจัดการปกครองภาครัฐไม่ได้จำกัดอยู่แค่หน่วยงานราชการแบบดั้งเดิมอีกต่อไป การแตกกระจายของหน่วยงานและการปฏิรูปการจัดการภาครัฐได้ส่งเสริมรูปแบบของการปกครองที่เน้นกลไกตลาดและเครือข่ายมากยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาที่สำคัญคือ หน่วยงานนอกภาครัฐเริ่มเข้าไปมีบทบาทในการจัดการสาธารณะมากยิ่งขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนในฐานะเป็นตัวการสำคัญของประชาสังคมเริ่มทำงานควบคู่ไปกับรัฐ ความสัมพันธ์แบบปฏิปักษ์ที่มีแต่เดิมเริ่มพัฒนากลายเป็นความสัมพันธ์แบบภาคีเครือข่ายที่เน้นความร่วมมือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานรูปแบบใหม่ เช่น องค์กรมหาชน และองค์กรอิสระ เริ่มกลายมาเป็นแหล่งทุนหลักขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องมาจากว่าองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งทุนสำคัญแต่เดิมเริ่มลดบทบาทในการสนับสนุนลง องค์กรพัฒนาเอกชนเริ่มขาดแคลนทุนในการทำงาน บทบาทในการสนับสนุนทุนของรัฐที่เพิ่มมากขึ้นนี้เองได้ส่งผลกระทบที่สำคัญ อาทิ การสร้างสภาวะพึ่งพิงขององค์กรพัฒนาเอกชนที่มีต่อรัฐ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการจัดองค์กรขององค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงในข้างต้นทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์และการทำงานร่วมกับรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนเริ่มมีลักษณะของความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น การจัดองค์กรเริ่มต้องคำนึงถึงความเป็นสถาบันและระบบการจัดการสมัยใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรของตนสามารถกลายเป็นภาคีหรือหุ้นส่วนที่เหมาะสมกับรัฐ อย่างไรก็ดี ภูมิทัศน์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการปรับตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนนี้ ไม่ได้เป็นลักษณาการเฉพาะตัวของสังคมไทย แต่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ “เอ็นจีโอภิวัตน์” (NGOization) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.ณปภัช สัจนวกุล

Facebook Live: https://fb.watch/58TdjFEalE/

January 6, 2021