วันที่ 15 มกราคม 2568 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ประชากรของประเทศไทย โดย รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการของสถาบันฯ ได้แถลงถึงโอกาสของไทยในความท้าทาย “เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” จากการจัดทำแบบสำรวจความเห็นของประชาชนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างทั้งสิ้น 1,042 คน ช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชาสังคมอุดมพัฒน์ (101) ชั้น 1 และออนไลน์ผ่านทาง Facebook Live: IPSRMahidolUniversity
ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้นำเสนอข้อมูลของประชากรไทยจากการจัดทำแบบสำรวจความเห็นของประชาชนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างทั้งสิ้น 1,500 คน ช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม 2567
โอกาสและทางเลือกของประเทศไทย
(1) “ผู้สูงอายุ” และ “ผู้หญิง” จะเป็นกุญแจสำคัญ – ต้องสนับสนุนบทบาทและโอกาสในการมีส่วนร่วมทางสังคมและในกำลังแรงงานให้เพิ่มขึ้น ปรับปรุงเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อเอื้อให้เป็นพลัง (contributor) ไม่ใช่ผู้พึ่งพิง (dependent)
(2) “เด็ก” คือ ทรัพยากรล้ำค่า การลงทุนในเด็กต้องเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และสวัสดิการต่าง ๆ ลดความเครียดทางเศรษฐกิจของครอบครัว สนับสนุนสวัสดิการในสถานที่ทำงานเพื่อช่วยให้พ่อแม่มีเวลาและความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ส่งเสริมการเกิดในเชิงคุณภาพและให้คุณค่าแก่บทบาทของพ่อแม่ในสังคม
(3) การย้ายถิ่นทดแทนหรือการนำเข้าแรงงาน (Replacement migration) หรือ การทดแทนแรงงานไทยที่จะลดลงด้วยกลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยเฉพาะ การดึงดูดแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะ เด็กข้ามชาติที่เกิดและเติบโตในไทย เป็นอีกทางเลือกเชิงนโยบายและโอกาสที่ต้องพิจารณาเพื่อเร่งให้เกิดการกำหนดมาตรการ แนวทางและกลไกที่ชัดเจนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นระบบ
(4) เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีกหนึ่งกุญแจของโอกาสเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลงในด้านปริมาณ ด้วยคุณภาพและผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นของประชากรในทุกช่วงวัย รวมถึงเด็กเจนเนอเรชันเบต้า (เกิดปี 2568 เป็นต้นไป) ที่เกิดมาพร้อมการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของ AI ในทุกมิติทางสังคมและวิถีชีวิต
(5) พลิกวิกฤตเกิดน้อย เป็นโอกาสต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ SDGs ด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ “สิ่งสำคัญ คือ การปรับตัวและเตรียมรับมือในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน”
ผู้สนใจสามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/15tPDoWe1J/
ภาพ
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=IPSRMAHIDOLUNIVERSITY&set=a.1077839674140108