เมื่อวันที่ 12-14 มิถุนายน 2567 กรมอนามัย ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข หลักสูตร “แนวปฏิบัติส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด (PA Pregnant and Postpartum Woman Guideline) ในสถานบริการสาธารณสุข” ให้กับพยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา จากศูนย์อนามัยที่ 1-12 สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง และสำนักส่งเสริมสุขภาพ ณ โรงแรม ที.เค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นพ.ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย เป็นผู้กล่าวต้อนรับและบรรยายในหัวข้อ “การดำเนินงานโรงพยาบาลตามมาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็ก คลินิกฝากครรภ์ (ANC) คุณภาพ” โดยมี ดร.สุพิชชา วงค์จันทร์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ เป็นประธานกล่าวเปิดการจัดอบรม
.
การจัดอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ และการใช้ชุดเครื่องมือสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดที่มารับบริการในคลิกนิกฝากครรภ์ โดยมีนพ. ชัยวัฒน์ ฟ้าสว่าง นายแพทย์ชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุข จ.อุบลราชธานี ร่วมบรรยายในหัวข้อ “การให้ความรู้แบบประเมินความเสี่ยงเพื่อจำแนกและประเมินกลุ่มหญิงตั้งครรภ์” และศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) นำโดย รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) นายปัญญา ชูเลิศ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา และคณะวิจัย ได้ร่วมเป็นวิทยากรในการอบรม เพื่อการถ่ายทอดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการและชุดบริการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด
.
ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับฟังการบรรยาย การทดลองปฏิบัติตามแนวทางมาตรการและชุดการให้บริการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด ประกอบด้วย การประเมินการมีกิจกรรมทางกาย การประเมินความเสี่ยง การให้ความรู้ แนวทางการกำหนดเป้าหมายในการมีกิจกรรมทางกายระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด และโปรแกรมการออกกำลังกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาส พร้อมถอดบทเรียนและร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางที่จะนำชุดบริการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้าไปสอดแทรกในระบบการให้บริการของคลินิกฝากครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดต่อไป
ภาพกิจกรรม
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=IPSRMAHIDOLUNIVERSITY&set=a.937204174870326