โครงการ การสังเคราะห์กลไกต้นแบบของชุมชนและพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน

โครงการ การสังเคราะห์กลไกต้นแบบของชุมชนและพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน

หัวหน้าโครงการ: ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ระยะเวลา: ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566

โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund; FF) ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกันทั้ง 5 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบด้วย 1) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม 2) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา 3) คณะวิทยาศาสตร์ 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ 5) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล

วัตถุประสงค์

  1. สังเคราะห์กลไกการบริหารจัดการของชุมชน รวมถึงองค์ประกอบที่สามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในกลุ่มผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิผล
  2. วิเคราะห์ปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยระดับบุคคล ปัจจัยเชิงพฤติกรรม และปัจจัยทางสังคม ที่เป็นตัวกำหนดการมีกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และสมรรถภาพทางกายในกลุ่มผู้สูงอายุ
  3. ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเหงื่อ กิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง สมรรถภาพทางกายและการทำงานด้านการรู้คิดในผู้สูงอายุ เพื่อสามารถพัฒนาเป็นเกณฑ์ในการระบุความเสี่ยงระหว่างปัจจัยด้านการเคลื่อนไหวและภาวะถดถอยของสมองในกลุ่มผู้สูงอายุ
  4. พัฒนานวัตกรรมสำหรับการตรวจวัดประเมินพฤติกรรมสุขภาพด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย การสื่อสารและแจ้งเตือนข้อมูลสุขภาพเพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสม รวมถึงการนัดหมายและจัดบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้วยระบบการบริการทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเฉพาะให้มีความเหมาะสมกับความต้องการด้านการใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุ
  5. วิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล (Cost-Effectiveness Analysis) ของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อเปรียบเทียบและสะท้อนภาพความคุ้มค่าของการดำเนินงานที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดทางสุขภาพต่าง ๆ เช่น ความชุกและอุบัติการณ์ของการเจ็บป่วย การเสียชีวิต หรือการสูญเสียปีสุขภาวะ เป็นต้น

วิธีการดำเนินงาน

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) ที่ประกอบด้วยกิจกรรมย่อยทั้งสิ้น 3 กิจกรรม โดยทุกกิจกรรมจะดำเนินการเพื่อตอบเป้าหมายหลักของโครงการ การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถเป็นฐานในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับผู้สูงอายุ ผ่านผลผลิตเชิงองค์ความรู้ต่าง ๆ นำไปใช้เพื่อการเผยแพร่ในวงวิชาการผ่านทางบทความวิจัยและสำหรับขยายผลเชิงปฏิบัติสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุในชุมชนต่าง ๆ ของประเทศไทยได้

กลุ่มประชากรของการศึกษา ได้แก่ กลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่ครอบคลุมประชากรวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และวัยก่อนสูงอายุ (อายุ 45-59 ปี) ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่เป็นพื้นที่ศึกษา สาเหตุสำคัญที่กำหนดประชากรวัยก่อนสูงอายุเข้าร่วมการศึกษาด้วย เนื่องจากประสงค์ให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถใช้สำหรับการเตรียมตัวด้านสุขภาพของประชากรได้อย่างทันท่วงทีก่อนเข้าวัยสูงอายุตามผลจากการวิจัยต่าง ๆ โดยกิจกรรมหลักของโครงการทั้ง 3 กิจกรรม ประกอบด้วย

กิจกรรมย่อยที่ 1 การสังเคราะห์กลไกต้นแบบของชุมชน และการวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล (Cost-Effectiveness Analysis) ของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน

มีเป้าหมายเพื่อสังเคราะห์กลไกที่สามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายเพื่อการมีพฤฒพลังในผู้สูงอายุ ที่มุ่งเน้นสังเคราะห์มิติที่เป็นปัจจัยแวดล้อมภายนอกในระดับชุมชน เริ่มตั้งแต่ปัจจัยเชิงนโยบาย การบริหารจัดการและสนับสนุนทรัพยากร และปัจจัยสนับสนุนขั้นพื้นฐาน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การออกแบบและดำเนินการระบบการดูแลแบบต่อเนื่อง ตลอดจนกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้ผู้สูงอายุในชุมชน นอกจากนี้จะทำการวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล (Cost-Effectiveness Analysis) เพื่อทราบผลเชิงประจักษ์ของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อเปรียบเทียบและสะท้อนภาพความคุ้มค่าของการดำเนินงานที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดทางสุขภาพต่าง ๆ เช่นความชุกและอุบัติการณ์ของการเจ็บป่วย การเสียชีวิต หรือการสูญเสียปีสุขภาวะ โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods) แบบ Exploratory Sequential Mixed Methods ที่เริ่มจากการหาคำตอบเชิงปรากฏการณ์จากการวิจัยเชิงคุณภาพและเอกสารข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำการค้นหาเกณฑ์สำหรับการพิจารณาเบื้องต้นที่เข้าข่ายชุมชนที่มีกลไกต้นแบบที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุ จากนั้นทำการสำรวจข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อเปรียบเทียบและพิสูจน์ยืนยันถึงประสิทธิผลการดำเนินงานของชุมชน โดยเปรียบเทียบระหว่างชุมชนที่มีการดำเนินงานกับไม่ได้ดำเนินงาน

กิจกรรมย่อยที่ 2 การวิเคราะห์และตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเหงื่อ กิจกรรมทางกาย ผลลัพธ์ด้านสมรรถภาพทางกาย และการทำงานด้านการรู้คิดในผู้สูงอายุ

เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณตัวบ่งชี้ชีวภาพ การมีกิจกรรมทางกาย สมรรถภาพทางกาย (Physical Fitness) และการทำงานการรู้คิด (Cognitive function) ในผู้สูงอายุ และผู้ที่เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยอาศัยการบูรณาการศาสตร์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมกับพฤติกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อตรวจสอบและหาคำตอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ปัจจัยเชิงพฤติกรรม และตัวกำหนดที่เป็นปัจจัยระดับบุคคลและสังคม ทั้งนี้เพื่อหาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับตัวกำหนดต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุ โดยคาดหวังให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถพัฒนาให้เป็นเกณฑ์ในการบ่งชี้และประเมินสถานะความเสี่ยงทางสุขภาพ และใช้องค์ความรู้ที่ได้นี้ไปสนับสนุนกระบวนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุ โดยการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณแบบ Case-Control Study ในการศึกษาข้้อมูลและประวัติของปัจจัยด้้านพฤติกรรมผลลัพธ์ทางสุขภาพ และสารบ่งชี้ทางชีวภาพในร่างกายที่มีผลต่อความบกพร่องทางการรู้คิดแบบเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment: MCI) ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่เตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ

กิจกรรมย่อยที่ 3 การพัฒนานวัตกรรมสำหรับการตรวจวัดประเมินพฤติกรรมสุขภาพด้านการเคลื่อนไหวร่างกายในกลุ่มผู้สูงอายุ

เป็นการพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ ตลอดจนสามารถสื่อสารและแจ้งเตือนข้อมูลสุขภาพเพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสม สามารถนัดหมายและจัดบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้วยระบบการบริการทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเฉพาะให้มีความเหมาะสมกับความต้องการด้านการใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้เนื่องจากอุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ หรือ ที่เรียกว่า Mobile Health (mHealth) เป็นระบบติดตามดูแลสุขภาพผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน นาฬิกาอัจฉริยะ เป็นที่นิยมในปัจจุบันและมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดีแต่การใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุมีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากการใช้งานไม่ได้ออกแบบมาให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการสำหรับการใช้งานกับผู้สูงอายุ ดังนั้นการออกแบบแอพพลิเคชั่นที่เหมาะสมกับการใช้งาน จะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุสามารถติดตามสุขภาพของตนเอง และได้รับข้อมูลด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะที่ดีในผู้สูงอายุได้ โดยกิจกรรมนี้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายและสุขภาวะของผู้สูงอายุ ระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ได้ใช้แอพพลิเคชั่น ซึ่งใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research Method) โดยใช้วิธีการทดลองแบบสองกลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง คือ ผู้สูงอายุในชุมชน อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างการวิจัยในการเก็บข้อมูลเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม จำนวน 40 คน และกลุ่มทดลอง จำนวน 40 คน ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลระดับบุคคล โดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่มีพนักงานสัมภาษณ์เป็นผู้สอบถามข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูล อันจะสามารถประเมินผลประสิทธิผลของกิจกรรมแต่ละประเภทที่มีต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประชาชนได้

ภาพกิจกรรมโครงการ