#IPSRRealWorldImpacts #IPSRvisibility
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) ได้จัดประชุมหารือเพื่อบูรณาการระบบสารสนเทศ E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) และ Thailand Zero Dropout (TZD) โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อทั้งสองระบบให้ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการความช่วยเหลือของเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และผลักดันให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมและต่อเนื่อง
การประชุมครั้งนี้นำโดย นายอิษฏ์ ปักกันต์ธร ผู้อำนวยการสำนักการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ กสศ., นางสาวพรภัทรา ฉิมพลอย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและรับรององค์กรฝึกอบรม สคช., รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าโครงการหนุนเสริมการขับเคลื่อนงาน Thailand Zero Dropout และการพัฒนากลไกระบบฐานข้อมูล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.นิสาพร วัฒนศัพท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบการจัดการรายกรณี กสศ. ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวทางและกำหนดกลยุทธ์ในการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ระบบสารสนเทศ Thailand Zero Dropout (TZD) พัฒนาโดย กสศ. เป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โดยสามารถรองรับการสำรวจ ติดตาม วิเคราะห์ และช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การระบุตัวตน วางแผนการช่วยเหลือเชิงลึก ติดตามผล ไปจนถึงการยุติความช่วยเหลือ ขณะที่ E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) ซึ่งพัฒนาโดย สคช. เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลด้านแรงงานระดับประเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายหน่วยงานเป็น Big Data ด้านกำลังคน โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะ การมีงานทำ การศึกษาต่อ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) อย่างเป็นระบบ
การบูรณาการข้อมูลของทั้งสองแพลตฟอร์มนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดย TZD จะช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ขณะที่ EWE จะช่วยสนับสนุนเส้นทางการพัฒนาอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคการศึกษาและการพัฒนาอาชีพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของตนเอง ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของความร่วมมือนี้คือ “ไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” และการสร้างระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่งเพื่อให้เยาวชนไทยได้รับโอกาสที่เสมอภาคกันทั้งในด้านการศึกษาและอาชีพ นำไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนของประเทศ การประชุมในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่เป็นการร่วมกันกำหนดทิศทางเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยปิดช่องว่างทางการศึกษาและเปิดโอกาสใหม่ให้กับเยาวชนไทยทุกคน
ภาพกิจกรรม
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=IPSRMAHIDOLUNIVERSITY&set=a.1126440485946693