ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2566 ณ โรงแรมหรรษนันท์ จังหวัดพิษณุโลก ดร.สุเนตร ทองคำพงษ์ นายกสมาคมสุขปัญญา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อบูรณาการข้อมูลและพัฒนาข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด สำหรับการขับเคลื่อนงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดพิษณุโลกปี 2565
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา “กลไก” ให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมตลอดจนประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่พัฒนาแผนและแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด และสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ทีมหนุนเสริมการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ทีมส่งยิ้ม) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกระบวนการชวนคิดชวนคุย นำโดย รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.พจน์ พงศ์เผ่าพัฒนกุล ภาควิชาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก มหาวิทยาลัยนเรศวร, อาจารย์ ดร.นุชนาฎ หมื่นจันทร์ คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, อาจารย์ ดร. วิวัน สุขเจริญ เกษแก้ว คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ นายปัญญา ชูเลิศ, นางสาวรัตนา ด้วยดี, นายดนุสรณ์ โพธารินทร์, นางสาวณัฐพร นิลวัตถา และนางสาวณัฏฐนันท์ ศิริโกสุม เป็นทีมวิทยากรนำคุยด้วยกระบวนการกลุ่ม รูปแบบ World Café เพื่อรวบรวมต้นทุนทรัพยากร 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านข้อมูล /สารสนเทศ 2. ด้านการดำเนินงาน (งบประมาณ คน หน่วยงาน องค์กร) 3. ด้านองค์ความรู้/ชุดความรู้/นวัตกรรม และ 4. ด้านนโยบาย /ทุนทางสังคม นอกจากนี้ ยังได้ชวนคณะทำงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดพิษณุโลกร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ ประเด็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนในจังหวัดพิษณุโลก อีกทั้งร่วมกันวิเคราะห์ช่องว่างในการทำงานเพื่อนำข้อมูลยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดมาใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการ และการตัดสินใจในขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของจังหวัดพิษณุโลก โดยมี นางสาวพิมพร สุรกิตติดำรง และนางสาวรังสิมา ลิ้มเลิศพาณิชย์ นักวิชาการบริหารแผนงาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว
#กสศ. #การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ #จังหวัดพิษณุโลก #ABE