การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบข้อมูล และกลไกเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ บนความร่วมมือของ 8 มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2566 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบข้อมูล และกลไกเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับคณะทำงานทีมส่งยิ้มภูมิภาค ประกอบด้วย ดร.วิตติกา ทางชั้น ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและบัณฑิตศึกษา คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, อาจารย์ ดร.นุชนาฎ หมื่นจันทร์ (มหาวิทยาลัยพะเยา), อาจารย์ ดร.อิสระพงษ์ พลธานี (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์), อาจารย์ ดร.ณัฏฐกิตติ์ ตันสมรส (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก), ผศ. ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ (มหาวิทยาลัยทักษิณ), ผศ.ดร. มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์), คุณพงษ์ศักดิ์ หมื่นศักดา (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล), และอาจารย์ ดร.พจน์ พงศ์เผ่าพัฒนกุล (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ได้เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา

รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และคณะทำงานประกอบด้วย คุณปัญญา ชูเลิศ และคุณรัตนา ด้วยดี ได้มีการนำเสนอชี้แจงวัตถุประสงค์การทำงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ABE) ของโครงการ ให้กับคณะทำงานทีมส่งยิ้มภูมิภาค ได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจบทบาทการดำเนินงานและเข้าร่วมเป็นคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบข้อมูล และกลไกเพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ และสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ใน 4 ประเด็น คือ 1. การประสานงานและสื่อสารการทำงานไปยังคณะทำงานระดับจังหวัดอย่างมีประสิทธิผล 2. การหนุนเสริม และรับโจทย์ด้านการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานของจังหวัด 3. การสนับสนุนกระบวนการทำงานด้านการออกแบบการใช้ และการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการวางแผนการทำงานในกระบวนการต่าง ๆ 4. การสนับสนุนทางวิชาการร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อหนุนเสริมกลไกของจังหวัดสามารถดำเนินงานช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่จังหวัดกำหนดไว้

การประชุมดังกล่าว คุณปัญญา ชูเลิศ, คุณณรากร วงศ์สิงห์, คุณอัญญารัตน์ คณะวาปี และคุณณัฐพร นิลวัตถา ได้มีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของทั้ง 12 จังหวัด เกี่ยวกับสถานการณ์ภาพรวมของแต่ละจังหวัด กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการเล่าถึงภาพรวมการสะท้อนการทำงานและข้อเรียนรู้ของการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผ่านมาของทีมส่งยิ้ม และแนวทางการดำเนินงานโครงการศึกษากลไกการทำงานด้านการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (ABE) ปี 2566 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของแต่ละจังหวัด

https://www.facebook.com/media/set/?vanity=IPSRMAHIDOLUNIVERSITY&set=a.689647176292695

#กสศ #การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ