วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 9:00 – 12:00 น. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาและผู้ร่วมวิจัย “โครงการการสังเคราะห์กลไกต้นแบบของชุมชน และพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย การคลังและพัสดุ ที่ปรึกษาโครงการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยข้ามศาสตร์และให้แนวคิดการพัฒนางานวิจัย ณ ห้องสระบัว (109) สถาบันฯ
ในการประชุมครั้งนี้ รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) และคณะนักวิจัยทีแพค ได้นำเสนอที่มาและความสำคัญของของโครงการฯ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างคณะทำงาน ประกอบด้วย ดร.ดิยาฮ์ อนันตาเลีย วิดยาสตาริ และ ดร.นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, ศ.ดร.บัณฑิต เจตน์สว่าง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล, รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ร่วมกับบริษัทพ็อพเมด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.มนต์ชัย โชติดาว วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือข้ามศาสตร์ 5 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อดำเนินงานโครงการวิจัยการสังเคราะห์กลไกต้นแบบของชุมชนและพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน สาขาสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม ที่ใช้องค์ความรู้และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการมีกิจกรรมทางกาย ตลอดจนสังเคราะห์กลไกการบริหารจัดการของชุมชน ทั้งยังใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การใช้ห้องทดลองเชิงปฏิบัติการ และใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อให้ได้ต้นแบบสำหรับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิผล พัฒนานวัตกรรม และทราบความคุ้มค่าของการดำเนินงานที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดทางสุขภาพต่าง ๆ