เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส. ต้อนรับ ศ.ฮิซาชิ ไนโตะ และคณะทีมผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น Japan Sport Association (JSPO) โดยได้แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน และบทบาทของ สสส. ในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ตลอดจนความท้าทายและแนวทางในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในอนาคต โดยศูนย์ฯ ทีแพค นำโดย รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และคุณปัญญา ชูเลิศ ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทยในช่วงโควิด-19 และได้นำกิจกรรม ACP ไปขยายผลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์บนเว็บไซต์ Active Kids Thailand ในการขยายผลในวงที่กว้างขึ้น โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย อาทิ กิจกรรม Thai-ACP รวมถึงมีข้อมูลโครงการโรงเรียนฉลาดเล่น (Active School) และ Thailand Report Card
ทั้งนี้ ได้มีการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ในเรื่องแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนในอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ผ่านการสร้างศักยภาพในตัวบุคคล ผ่านการวิจัย การพัฒนาศักยภาพ และกลไกเชิงระบบในการทำงานร่วมกัน เพื่อการเคลื่อนงานเชิงระบบในการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยในอนาคต สสส. กำลังดำเนินการเกี่ยวกับระบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแบบองค์รวม (Whole of School Program) ซึ่งมี 3 ประเด็นที่ทางประเทศญี่ปุ่นสามารถสนับสนุนประเทศไทยได้เป็นอย่างดี คือ 1) QPE 2) Active Travel 3) Before and After school โดยหลังจบงานประชุมทางสสส. ได้นำนักวิชาการจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมชมสำนักงานฯ ซึ่งเป็นตึกที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย และเป็นอาคารประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Sport Association: JSPO) และคณะวิจัยศูนย์ฯ ทีแพค นำโดย รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา และคณะทำงานประกอบด้วย คุณปัญญา ชูเลิศ, คุณชุติมา อยู่สมบูรณ์, คุณนันทวัน ป้อมค่าย, คุณวิสุตา มั่นสิงห์, คุณสุรศักดิ์ เพ็ญใหม่, คุณทิพย์ภาพร วังคีรี และคุณมัลลิกา ชนะภัย ได้ร่วมเข้าสังเกตการณ์การเล่นของเด็กและศึกษาดูงานการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของโรงเรียนอนุบาลนนทบุรี เพื่อสังเกตการณ์การเล่นของเด็กนักเรียน