ดึงย้ายถิ่นแก้อัตราเกิดลด(จบ) ‘ประชากรข้ามชาติ’โอกาสไทย

จากงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 16 “ประชากรและสังคม 2565” เรื่อง “โควิด-19 : การฟื้นตัว และโอกาสของประชากรและสังคม (COVID-19 : Resilience and opportunity population and society)” จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ บรรยายในหัวข้อ “ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ : สินทรัพย์ทางประชากรที่ไม่ควรมองข้าม” ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบจากบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ในประเทศไทย เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยเก็บข้อมูลใน 6 พื้นที่ คือกรุงเทพฯ (รวมปริมณฑล) กับอีก 4 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระนอง ชลบุรี เชียงใหม่ และอีก 1 อำเภอ คือ อ.แม่สอด จ.ตาก พบปัญหาสำคัญ 1. เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะการจดทะเบียนการเกิด โอกาสทางการศึกษา และบริการด้านสุขภาพ 2. ตกหล่น โดยเฉพาะปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

รศ.ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง บรรยายหัวข้อ “ผู้ลี้ภัยในเมืองกับการทดแทนกำลังแรงงานในสังคมไทย” ว่าด้วยการศึกษาชีวิตผู้ลี้ภัยหนีการถูกคุกคามด้วยเหตุแห่งความขัดแย้ง เช่น การเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งผู้ลี้ภัยและผู้เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลช่วงต้นปี 2565 พบผู้ลี้ภัยในเมือง (Urban Refugee) ประมาณ 5 พันคน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก คนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายผู้อพยพ ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยที่เก็บข้อมูลได้ อยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี จนต้องหางานทำแม้จะผิดกฎหมายก็ตาม

รศ.ดร.สุดารัตน์ มุสิกะวงศ์ บรรยายหัวข้อ “การสร้างหนี้เมื่อย้ายถิ่นในภาวะ COVID-19” ว่าด้วยขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย แม้จะมีการพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกแต่ในความเป็นจริงพบปัญหาในการดำเนินการ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าจ้างที่ได้รับ โดยประเทศไทยมีความท้าทาย 2 ประการ ที่ส่งผลให้จำนวนแรงงานข้ามชาติในไทยที่ไม่มีเอกสารเพิ่มขึ้น คือ 1.ค่าธรรมเนียมการจัดหางานสูง และ 2.ความยากลำบากในการเข้าถึงระบบการขึ้นทะเบียนแรงงาน โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนออนไลน์

เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์แนวหน้า : https://www.naewna.com/likesara/668732