ประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจสุขภาพโลก มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University Global Health: MUGH) และเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการ พร้อมคณะ เข้าร่วมประชุมและเตรียมงาน “ประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559: Prince Mahidol Award Conference 2016” โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานการประชุมวิชาการดังกล่าว ในหัวข้อ “Priority Setting for Universal Health Coverage” หรือ “จัดลำดับความสำคัญ เพื่อประกันสุขภาพดีถ้วนหน้า” พร้อมร่วมชมนิทรรศการ จัดโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรสุขภาพระดับโลก ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

 

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรสุขภาพระดับโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ และหน่วยงานระดับนานาชาติต่างๆ ได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ประจำปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 ขึ้นภายใต้หัวข้อ ภายใต้หัวข้อ "Priority Setting for Universal Health Coverage หรือ จัดลำดับความสำคัญ  เพื่อประกันสุขภาพดีถ้วนหน้า” ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
 
ในการนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ประจำปี 2559  ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น.  
 
สมเด็จพระเทพรัตนฯ ได้ทรงกล่าวเปิดการประชุมความตอนหนึ่งว่า  “….การจัดลำดับความสำคัญเป็นเครื่องมือที่ช่วยรับประกันว่าทรัพยากรด้านสุขภาพจะถูกนำไปใช้อย่างสมเหตุสมผลและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถจัดหาชุดบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมและมีคุณภาพสูงให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน…”
ในช่วงพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก จากผู้นำระดับโลก 4 ท่านในการกล่าวปาถกฐานำ คือ 
 
ศาสตราจารย์นายแพทย์มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ ศาสตราจารย์ (Morton M. Mower) อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ และศาสตราจารย์สรีรวิทยาและชีวฟิสิกส์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโฮเวอร์ด กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับพระราชทาน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 สาขาการแพทย์ ได้กล่าวถึงการคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย หรือเอไอซีดี (AICD: Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) และเป็นผู้คิดค้นหลักของเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะ หรือซีอาร์ที (CRT: Cardiac Resynchronization Therapy) ซึ่งสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจได้มากมาย
 
เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Micheal Marmot) ผู้อำนวยการสถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และศาสตราจารย์ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และนายกแพทยสมาคมโลก ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการสาธารณสุข ได้กล่าวถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพ และปัจจัยกำหนดสุขภาพ โดยเซอร์มาร์มอต ได้เน้นย้ำถึงการแก้ปัญหาสุขภาพที่มองกว้างกว่าการให้บริการด้านสุขภาพ แต่ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านอื่นๆ เช่นความยากจน การศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางสังคม
 
นายมิเชล ซิดิเบ (Michel Sidibé) ผู้อำนวยการใหญ่โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ  (UNAIDS) ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยประเทศไทยเป็นตัวอย่างอันดีให้กับประเทศอื่นๆทั่วโลก ทั้งในด้านการให้ยาต้านไวรัสที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการให้บริการแก่กลุ่มที่ด้อยโอกาส เช่นกลุ่มแรงงานต่างชาติเป็นต้น
 
และคนสุดท้ายที่กล่าวในช่วงปาถกฐานำ คือนางสาวมิไร แชทเทอร์จี (Mirai  Chatterjee) ผู้อำนวยการสมาคมสตรีเพื่อการประกอบธุรกิจของตนเอง ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของสมาคมที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนของผู้หญิงในประเทศอินเดีย ที่กว่าร้อยละ 90 มีฐานะยากจน ต้องกู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงเพื่อยังชีพ และเพื่อการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย การดำเนินงานของสมาคมได้ช่วยให้ผู้หญิงจำนวนมากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ภายหลังพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ การประชุมได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และข้อคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่างๆ หลายด้านจากผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จและยั่งยืน