Comprehensive development of Thai older persons’ quality of life  by local administrative organizations

Comprehensive development of Thai older persons’ quality of life  by local administrative organizations

Research Project: โครงการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม

Principal Investigator: Sureeporn Punpuing
Researcher: Sutthida Chuanwan, Wipaporn Jaruruengpaisan, Kanchana Thianlai, Nontawatch Sankla-or

Project Period: October 2022 – December 2023

มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้เครื่องมือประเมินภาวะความมีชีวิตชีวาสำหรับผู้สูงอายุไทยเพื่อให้ทราบสถานการณ์ผู้สูงอายุในพื้นที่
  2. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่สามารถนำไปสู่การวางแผนและนำไปดำเนินการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน รวมทั้งเกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุ
  3. โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน

โครงการนี้มีการดำเนินการในพื้นที่ของ อปท.ที่มีความเป็นเมือง จำนวน 1 พื้นที่ คือ เทศบาลเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นชนบท จำนวน 2 พื้นที่ คือ องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย จังหวัดนครปฐม โดยใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ตั้งแต่การวางแผนการปฏิบัติการ การสังเกตการณ และการสะทอนกลับ มีรายละเอียดผลการดำเนินงานโครงการ ดังนี้

1. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เครื่องมือประเมินภาวะความมีชีวิตชีวาสำหรับผู้สูงอายุไทย เพื่อให้ทราบสถานการณ์ความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุในพื้นที่

1.1 การรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือประเมินความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุไทย (AAI) ตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปของพื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี อบต.มหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม สุ่มตัวอย่างที่ใช้หลักการความน่าจะเป็น (probability sampling method) ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (systematic sampling) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เมื่อเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว นักวิจัยของโครงการแต่ละพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ ความครบถ้วนสมบูรณ์ และความแนบนัยของข้อมูลที่ได้รับก่อนนำไปวิเคราะห์ข้อมูล

1.2 หลังจากประเมินผลภาวะความมีชีวิตชีวาแล้ว อปท.ได้วางแผน และดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ มีรายละเอียด ดังนี้ พื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุระยะยาวแบบเชิงรุกในชุมชน 2) โครงการชวนบอกเล่ากิจกรรมจิตอาสาผู้สูงวัย และ 3) โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ประจำปี พ.ศ. 2566 ขณะที่พื้นที่ อบต.มหาสวัสดิ์ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มการดูแลสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน โดย อบต.มหาสวัสดิ์ ภายใต้กิจกรรม 8 กิจกรรม 2) โครงการสร้างพลัง ผู้สูงวัย ดูแลกายใจให้แข็งแรง โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมหาสวัสดิ์

1.3 คณะผู้วิจัยพัฒนา “คู่มือการบันทึกและการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น” ให้เหมาะสมกับบุคลากรของ อปท. พร้อมการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือจัดการอบรมการบันทึกและการวิเคราะห์ข้อมูลตามคู่มือที่ได้พัฒนาขึ้น ในลักษณะการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop)

1.4 ในกระบวนการสะท้อนกลับร่วมกันจากการดำเนินงานพบปัญหาและอุปสรรค ดังนี้ 1) การสุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนประชากรในพื้นที่ อปท.ไม่สามารถทำได้ด้วยนักวิจัยในพื้นที่ 2) มีความยากลำบากในการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่าง 3) มีความไม่ชัดเจนในข้อคำถามที่ได้รับมา 4) การเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลไม่สามารถเสนอผลการประเมินความมีชีวิตชีวาเชิงลึกเป็นรายด้านและภาพรวมของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปได้ อีกทั้งในระดับพื้นที่ยังไม่สามารถเปรียบเทียบระหว่างค่าของตัวแปรเดียวกันใน 1 คำสั่งของการวิเคราะห์ข้อมูล และ 5) ในแต่ละ อปท.ขาดบุคลากรที่มีความสามารถในการบันทึกข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยตนเอง

1.5 แนวทางการการพัฒนา คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากทุกคน (census) ในพื้นที่เล็กๆ (ชุมชนหรือหมู่บ้าน) หรือกลุ่มเฉพาะ (กลุ่มผู้สูงอายุเปราะบาง หรือผู้สูงอายุติดบ้าน) 2) การเพิ่มความร่วมมือจากผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ (อสม.) ควรไปพร้อมกับบุคลากรของสาธารณสุข รพ.สต. หรือสวัสดิการสังคมที่ไปโดยรถของ อปท. และ 3) ปรับข้อคำถามหรือเพิ่มข้อคำตอบสำหรับคำถามให้มีความเป็นปรนัย และวัดได้ครอบคลุมกับบริบทของพื้นที่มากขึ้น

2. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน

2.1 คณะผู้วิจัยได้พัฒนา “ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน” โดยนำข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน และข้อมูลในพื้นที่ที่ได้รับจาก อสม. ผ่านการจัดทำแบบฟอร์มออนไลน์ด้วย google form เพื่อจัดเก็บข้อมูลของ อสม. และข้อมูลผู้สูงอายุที่เปราะบางทางด้านสุขภาพ ด้านการอยู่อาศัย หรือผู้ที่มีความต้องการพิเศษ มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน

2.2 ผลการดำเนินการในการวางแผนการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านร่วมกับ อปท. มีดังนี้ 1) พื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี จัดทำระบบเฝ้าระวังผ่านการกดพิกัดบ้านของ อสม. ร่วมกับข้อมูลผู้สูงอายุเปราะบาง 2) อบต.มหาสวัสดิ์ มีการกดพิกัดบ้านของ อสม.ร่วมกับการกดพิกัดบ้านผู้สูงอายุติดเตียง และ 3) อบต.งิ้วราย มีการกดพิกัดบ้านของ อสม. และพิกัดบ้านของผู้สูงอายุเปราะบาง

2.3 ผลจากการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้าน ทำให้ อบต.งิ้วราย นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรม จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการการรวมกลุ่มออกกำลังกาย ภายใต้กิจกรรมคนงิ้วรายรักสุขภาพ และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพด้วยการเต้นประกอบจังหวะดนตรี 2) โรงเรียนวัยเก๋างิ้วราย   3) การจัดทำสื่อเผยแพร่งานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 4) โครงการวัยเก๋ารู้เท่าทันสื่อ  5) โครงการผูกผ้าและจับจีบผ้าตกแต่งสถานที่ และ 6) การคัดกรองผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง

2.4 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือการอบรม “ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านในพื้นที่” ให้กับบุคลากรของ อปท. ในลักษณะการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) โดยผู้วิจัยบรรยายเนื้อหาตามคู่มือที่ได้พัฒนาขึ้น พร้อมๆ กับการฝึกบันทึกข้อมูลและการจัดการข้อมูลโดยบุคลากรของ อปท.

2.5 จากการดำเนินงานพบปัญหาและอุปสรรค ดังนี้ 1) อสม.ส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุ มีอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยี 2) การกดพิกัดผ่านมือถือสมาร์ทโฟนพบความคลาดเคลื่อน 3) ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดย อปท. ยังขาดการเชื่อมต่อกับข้อมูลในมิติอื่นๆ เช่น สุขภาพเชิงลึกของผู้สูงอายุ และ 4) อปท.ขาดบุคลากรที่สามารถวิเคราะห์ นำเสนอข้อมูล รวมทั้งการดูแลรักษาระบบฯ

2.6 แนวทางการการพัฒนา คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ปรับเปลี่ยนมาใช้การกรอกข้อมูลจากกระดาษ ตลอดจนอบรมทักษะการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้เก็บรวบรวมข้อมูล 2) สร้างกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล 3) ต้องพัฒนาการผสานข้อมูลในมิติสำคัญอื่นๆ จากหน่วยงานภายนอกเพิ่มเติม และ 4) จัดการอบรมทักษะ การนำเสนอข้อมูล และแนวทางการดูแลรักษาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดย อปท.

3. ขับเคลื่อนการบริหารจัดการ และ การจัดบริการโดยองคกรปกครองสวนทองถิ่น และสร้างความร่วมมือทุกภาคสวนในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน

3.1 หลังจากแต่ละพื้นที่ได้ทราบสถานการณ์ของผู้สูงอายุจากการประเมินภาวะความมีชีวิตชีวา และข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านที่ได้ริเริ่มพัฒนาขึ้นแล้ว แต่ละพื้นที่ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้าน โดยกิจกรรมที่ดำเนินการใน 3 พื้นที่อยู่ภายใต้ประเด็นที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้าน ดังนี้ 1) มีการประเมินภาวะความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปใน 2 พื้นที่ คือ เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ 2) การคัดกรองและดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ผ่านกิจกรรมการคัดกรองผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องด้วยเครื่องมือ Mini-Cog กิจกรรมจัดทำคุณช้างจับมือให้ผู้สูงอายุบริหารกล้ามเนื้อ 3) การดูแลระยะยาว ผ่านกิจกรรมหมอนอเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุติดเตียงเพื่อป้องกันแผลกดทับ 4) การส่งเสริมการมีงานทำ ผ่านกิจกรรมการฝึกอาชีพ กิจกรรมการส่งเสริม การลดรายจ่าย 5) การส่งเสริมการสูงวัยในถิ่นเดิม ผ่านกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกด้วยการอบรมให้ความรู้กับผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านหรือติดสังคม กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น การออกกำลังกาย การฝึกสมาธิ การอบรมการรู้เท่าทันสื่อ กิจกรรมที่มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การทำพินัยกรรมและการทำพินัยกรรมชีวิต กิจกรรมบ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมการปรับปรุงทัศนียภาพพื้นที่สาธาณะและจัดทำพื้นที่ออกกำลังกาย 6) การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ นอกจากนั้น มีการจัดทำคู่มือการบันทึกและการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น และคู่มือระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านในพื้นที่พร้อมจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ตามคู่มือให้กับบุคลากรของ อปท.ทั้งสามพื้นที่

3.2 จากการดำเนินงานพบปัญหาและอุปสรรค ดังนี้ 1) การจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้เต็มวัน เนื่องจากผู้สูงอายุบางท่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพ มีโรคประจำตัวต้องกินยาหรือนั่งนานไม่ได้ 2) การจัดกิจกรรมเชิงรุกในชุมชน มีทั้งข้อดีที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้มากขึ้น และข้อเสีย คือ ผู้สูงอายุอาจกลับก่อนกิจกรรมจะแล้วเสร็จ 3) ภารกิจด่วนของเจ้าหน้าที่ อปท./ ประธานชุมชนที่เข้ามากระทบกับกิจกรรมที่กำหนดวันที่ไว้ก่อนแล้ว หรือทำให้เกิดความล่าช้าของการดำเนินกิจกรรม 4) การเข้าร่วมกิจกรรมจะเป็นคนกลุ่มเดิม เช่น ข้าราชการเกษียณ คนที่ไม่ออกมาร่วมกิจกรรมก็ไม่ออกมาร่วมกิจกรรมเหมือนเดิม หรือบางคนไม่ได้รับข้อมูลของกิจกรรม และ 5) ภารกิจของเจ้าหน้าที่ อปท.มีภาระงานมาก ส่งผลให้มีเวลาสำหรับการจัดกิจกรรมใหม่ๆ สำหรับผู้สูงอายุเป็นไปได้ยาก อีกทั้งจำนวนบุคลากรมีจำนวนน้อย

3.3 แนวทางการการพัฒนา คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ปรับเวลาการจัดกิจกรรมให้เหลือครึ่งวัน หากจัดเต็มวันต้องแจ้งรายละเอียดและให้เตรียมยาประจำตัวติดตัวมาด้วย 2) หากิจกรรมที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดให้ผู้สูงอายุอยู่ร่วมทำกิจกรรมจนจบ 3) ปรับเปลี่ยนวันและเวลาเพื่อให้ไม่กระทบกับงานประจำและกิจกรรมที่ดำเนินการ 4) ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง และจัดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสนใจ และ 5) ต่อยอดจากกิจกรรมที่จะต้องทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่

ข้อเสนอแนะในภาพรวม

  1. บรรจุเรื่องการสูงวัยของประชากรไว้ในแผนการพัฒนา อปท.   
  2. สนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างรอบด้านอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามประเมินผล โดยต่อยอดโครงการเดิม พร้อมทั้งขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่
  3. สร้างแกนนำจากภาคประชาสังคมในกิจกรรมที่เคยดำเนินการมาแล้ว เพื่อให้กิจกรรมยังคงสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
  4. อปท.ควรพิจารณาเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้มีความสามารถในการวิจัยและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานโยบาย/ แผนหรือโครงการที่ตั้งอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน
  5. การบูรณาการความร่วมมือการทำงานด้านผู้สูงอายุร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่
  6. สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นผู้สูงอายุให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมชน ทั้งรูปแบบดั้งเดิมผ่านทางเสียงตามสาย และช่องทางสื่อสารออนไลน์รูปแบบต่างๆ และ
  7. ควรเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มที่ยังไม่เป็นผู้สูงอายุ ครอบครัวผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่การมีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง รวมไปถึงการเพิ่มผู้นำกิจกรรมที่เป็นจิตอาสาและอาสาสมัครของชุมชน

ผลลัพธ์ของโครงการวิจัยที่สำคัญที่ทำให้การดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างรอบด้านดำเนินงานไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน คือ “การสร้างนักวิจัยในพื้นที่” การดำเนินการร่วมกันภายใต้โครงการฯ มีส่วนในการ “เสริมศักยภาพ” ให้กับคนทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตระหนักในประเด็น        การสูงวัยในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อปท.มีเครื่องมือประเมินความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุ มีระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ซึ่ง อปท.ได้นำไปสู่การวางแผนและการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มประชากรและบริบทของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


ภาพที่ 5: ตัวอย่างการร่วมทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่

เอกสารดาวน์โหลด
คู่มือการประเมินความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุ (AAI) อบต.มหาสวัสดิ์
14 August 2024 8.76 MB Download 0 time
คู่มือการประเมินความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุ (AAI) เทศบาลเมืองกาญจนบุรี
14 August 2024 8.80 MB Download 0 time
คู่มือการจัดทำระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านในพื้นที่
14 August 2024 6.05 MB Download 0 time