การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อลดการเผาอ้อยและเศษวัสดุในไร่อ้อย ในจังหวัดกาญจนบุรี

Seminar no. 1208
22 March 2023 Time 12.30 – 13.30 hrs.

Speaker: กัญญาพัชร สุทธิเกษม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยโดยรวมจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง มักปรากฎว่าระดับ PM2.5 สูงมากถึง 4 เท่า ของระดับปลอดภัยที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO ค่า PM 2.5 ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง กรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย ค่า PM2.5 ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง) พืชเศรษฐกิจการเกษตรที่มีการจัดการเศษวัสดุด้วยการเผา ในกลุ่มข้าวและอ้อยมีปริมาณรวมกันสูงสุด (ร้อยละ 83) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 พบว่า เศษวัสดุของข้าวมีแนวโน้มลดลง ในทางกลับกันเศษวัสดุของอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้พลังงานจากพืชมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ทำให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวลดลงและเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตและกลั่นเป็นเอทานอลมากขึ้น รวมทั้งนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นแทน ซึ่งรวมถึงอ้อยด้วย โดยสามจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดของประเทศในปี พ.ศ. 2564/2565 ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร และกาญจนบุรี การเผาใบอ้อยและตอต้นอ้อยหลังเก็บเกี่ยวเป็นปัญหาใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะการเผาหลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 เกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดกาญจนบุรีจำนวนเกือบ 100% เผาเพื่อรื้อตอของต้นอ้อยในการปลูกครั้งใหม่ เนื่องจากใบของอ้อยที่เหลืออยู่ทั่วบริเวณเพาะปลูกเป็นอุปสรรคต่อการไถพลิกดินเพื่อการปลูกครั้งใหม่ การเตรียมหน้าดินโดยวิธีการอื่น ๆ สามารถทำได้ แต่ก็มีต้นทุนที่สูงและใช้เวลามากกว่าการเผาทิ้ง

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหาการเผาในภาคการเกษตร เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 หลายมาตรการ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายนัก เนื่องจากปัญหาการเผาอ้อยของเกษตรกรเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามามีบทบาทจำนวนมาก

การศึกษานี้ จึงมีเป้าหมายที่จะฉายภาพผู้ที่มีบทบาทตลอดห่วงโซ่ของการปลูกอ้อยโรงงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานทุกระดับที่มีส่วนดูแลป้องกันและแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ว่าแต่ละส่วนมีบทบาทอย่างไร มาตรการใดที่ได้ผล และไม่ได้ผล เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดการเผาให้ได้ โดยการวิเคราะห์ปัญหาและความเชื่อมโยงของสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบของการเผาอ้อยในจังหวัดกาญจนบุรีจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอผ่านเครื่องมือ “วงรอบเหตุและผล” (causal loop diagram) รวมถึงทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม (Theory of diffusion of innovations) และ ทฤษฎีการมีส่วนร่วมเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อม

วิธีการดำเนินงาน จะมีการทบทวนวรรณกรรมเพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาการทำไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่ทำให้เกษตรกรบางแห่งยังคงลักลอบเผาอ้อยก่อนและหลังเก็บเกี่ยว วิเคราะห์วงรอบเหตุและผล เพื่อระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และอธิบายสาเหตุปัจจัยและความเชื่อมโยง และประสิทธิผลของมาตรการการแก้ไขปัญหา/มาตรการทางเลือกในการลดการเผาในที่โล่งของเกษตรกรไร่อ้อย จากนั้นจะสนทนากลุ่มร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม เพื่อทบทวนวงรอบเหตุและผล (causal loop diagram) ความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเผาไร่อ้อยก่อนและหลังเก็บเกี่ยวของเกษตรกรรายย่อย ข้อจำกัดของการหยุดเผา ประสิทธิภาพผลของมาตรการแก้ปัญหา และประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อสรุปผลของวงรอบเหตุและผลและออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาการลดการเผาร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ จึงสรุปผลการศึกษา

Join Zoom Meeting
https://us02web.zoom.us/j/82006212704?pwd=cWNFQ3BPUyswNjJZeTNLYjMyRkdhZz09

Meeting ID: 820 0621 2704
Passcode: 927808