Principal Investigator: Burathep Chokthananukul
Researcher: Narakorn Wongsingha, Nanthawan Pomkai
Duration: January 2023 – November 2023
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นอุปสรรค์สำคัญในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส ได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองตามศักยภาพและความสนใจ นับเป็นการส่งเสริมความเสมอภาค สร้างคุณค่าให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ผ่านการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมให้กับหน่วยงานและภาคีทุกภาคส่วนในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างการมีส่วมร่วมของภาคีเครือข่ายในระดับชุมชน และจากแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2565-2567) กสศ. มุ่งมั่นยกระดับการพัฒนานโยบายสาธารณะและสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (system change) ผ่านการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เป็นการสนับสนุนภูมิปัญญา องค์ความรู้ และทรัพยากรจากฐานชุมชน แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทยให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและเกิดการพัฒนาทักษะอาชีพ หลุดพ้นวงจรปัญหาเรื้อรังอันเป็นอุปสรรค์สำคัญในการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์
สืบเนื่องจากผลการดำเนินงานอันเป็นที่ประจักษ์ในด้านการพัฒนาคน อาชีพ และความเข้มแข็งของชุมชนของ กสศ. ดังที่ได้กล่าวข้างต้น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก กสศ. ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานวิชาการในการสะท้อนผลการดำเนินงาน ถอดบทเรียนความสำเร็จ และสร้างข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสู่การยกระดับการทำงานของ กสศ. อันเป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนการวางแผนและการกำหนดกลยุทธ์การทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแก่ กสศ. โดยการดำเนินงานโครงการของสถาบันฯ มีระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพศจิกายน พ.ศ. 2566 และมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 3 ประเด็น ได้แก่
- เพื่อพัฒนาเครื่องมือรวบรวมข้อมูลและพัฒนาระบบแสดงผลข้อมูลสถานะและผลการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ข้อมูลของหน่วยจัดการเรียนรู้ ผู้รับผิดชอบการดำเนินงานโครงการ ทีมสนุนเสริม และ กสศ.
- เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ชุดข้อมูลเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2562-2564 จากฐานข้อมูลของ กสศ. โดยมีเป้าหมายสำคัญในการศึกษาถึงประสิทธิผลจากการดำเนินกิจกรรมโครงการใน 4 มิติหลัก ได้แก่ 1) การเข้าถึงการเรียนรู้ 2) ผลลัพธ์การเรียนรู้ 3) การศึกษาทางเลือก และ 4) การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ
- เพื่อรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการช่วยเหลือเชิงลึก และถอดบทเรียนประสิทธิผลตัวแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
ในด้านวิธีการดำเนินงาน โครงการฯ มีลักษณะผสมผสานทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในลักษณะของการสำรวจรวบรวมข้อมูลจากหน่วยจัดการเรียนรู้ และผู้ร่วมเรียนรู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทาง กสศ. และการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลของ กสศ. รวมถึง การสัมภาษณ์ระดับลึกและการสนทนากลุ่ม ผ่านการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
- การออกแบบ และการพัฒนาเครื่องมือรวบรวมข้อมูล ในการวัดผลการเปลี่ยนแปลงของผู้ร่วมเรียนรู้ (เปรียบเทียบก่อนและหลัง) แบบสำรวจหน่วยจัดการเรียนรู้ และแบบสำรวจระดับชุมชน อันเป็นการสะท้อนประสิทธิผลการดำเนินงานทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่
- การพัฒนาระบบการแสดงผลข้อมูล เพื่อเป็นข้อมูลในการทำงาน ทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด ภูมิภาค และส่วนกลาง สนับสนุนต่อการดำเนินงานสนับสนุนและส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการประกอบการ และทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินและเศรษฐกิจครัวเรือน
- การวิเคราะห์และสังเคราะห์ฐานข้อมูลของ กสศ. ที่ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562-2564 เป็นการสะท้อนผลการทำงาน สรุปองค์ความรู้ ความสำเร็จจากการดำเนินงาน เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาและยกระดับการการทำงานในการดำเนินงานในระยะต่อไปของ กสศ. สู่การดำเนินงานที่ได้ผลสำเร็จในระดับสูง
- การรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบที่ได้เข้าร่วมโครงการของ กสศ. จำนวนขั้นต่ำ 1,700 คน ใน 5 ภูมิภาค 11 จังหวัด
ผลลัพธ์สำคัญจากการดำเนินงานโครงการ คือ สามารถนำเสนอตัวแบบการจัดการโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อเป็นการต่อยอดจากผลผลิตในระยะสั้น คือ เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแก่หน่วยจัดการเรียนรู้ พื้นที่ และชุมชน เพื่อนำไปสู่ผลความสำเร็จในระยะยาว ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนนอกระบบการศึกษา และแรงงานนอกระบบได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต