Population Aging
ภาวะสูงวัยของประชากร
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุข ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางประชากร (Demographic transition) อัตราเกิดและอัตราตายที่ลดลง กับอายุคาดเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นของคนไทย ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในระยะเวลาอันสั้น กล่าวคือ ประชากรสูงอายุในประเทศ ได้เพิ่มจาก 1.7 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 4.9 ของประชากรทั้งหมด ใน พ.ศ. 2513 เป็นจำนวนสูงถึง 7.5 ล้านคน หรือร้อยละ 11.8 ของประชากรทั้งหมด ใน พ.ศ. 2553
จำนวนและสัดส่วนดังกล่าวนี้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ดังที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้คาดประมาณไว้ว่า ในอีก 10-15 ปี จำนวนประชากรสูงอายุ จะเพิ่มขึ้นเป็น 11-12.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.8-19.8 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
การศึกษาวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวมอีกด้วย ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ผู้ที่ถูกจัดว่าเป็นผู้สูงอายุ มีสุขภาพอนามัยที่ดีกว่าผู้สูงอายุรุ่นก่อนๆ มีอายุยืนยาวขึ้น สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ใน พ.ศ. 2553 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จึงได้เสนอให้ประเทศไทยเปลี่ยนนิยามของผู้สูงอายุ จากเดิมที่หมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นอายุ 65 ปีขึ้นไป เพราะนิยามผู้สูงอายุเดิมถูกกำหนดไว้ตามอายุปฏิทินที่บุคคลคนหนึ่งมีชีวิตผ่านมาแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับอายุคาดเฉลี่ยที่สูงขึ้นของคนไทยในปัจจุบัน เกณฑ์ใหม่ที่เสนอได้นำ ช่วงอายุคาดเฉลี่ยที่บุคคลคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ต่อไป (Remaining life expectancy) มาพิจารณาด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงนิยามผู้สูงอายุนี้ จะส่งผลให้จำนวนประชากรสูงอายุใน พ.ศ. 2553 ลดลงจาก 7.5 ล้านคน เหลือเพียง 5.1 ล้านคน ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงนิยามผู้สูงอายุ ย่อมส่งผลต่อผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุเอง รวมถึงระบบการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุด้วย สถาบันวิจัยประชากรและสังคมจึงต้องการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่มีต่อการออมของผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะทำให้บุคคลนั้นๆ มีระยะเวลาในการเก็บหอมรอมริบ และมีเงินออมที่เก็บสะสมจากการทำงาน เมื่อยังเป็นวัยแรงงานเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่จะนำเงินออมเหล่านั้น มาใช้จ่ายเมื่อตนเองเป็นผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ยังต้องการศึกษาผลกระทบต่อภาระทางคลังของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการ และค่าใช้จ่ายสุขภาพของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพ เงินบำนาญ ประกันสังคม หรือประกันสุขภาพต่างๆ ที่น่าจะลดลงจากการเปลี่ยนแปลงนิยามของผู้สูงอายุอย่างเห็นได้ชัด ตลอดจนรายรับจากภาษีของรัฐบาลที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายจำนวนแรงงานในประเทศ ประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการวางนโยบายสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุในอนาคต ทั้งนโยบายส่งเสริมการออม ระบบบำนาญ ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพของสวัสดิการยามชรา เป็นต้น
เมื่อบุคคลก้าวเข้าสู่ภาวะสูงวัย ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมลงตามธรรมชาติ ประชากรสูงอายุจึงจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งโดยมากเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคข้อ โรคกระดูก โรคสมองเสื่อม เป็นต้น โรคเหล่านี้ ย่อมส่งผลให้ประชากรสูงอายุมีภาวะทุพพลภาพ (Disability) ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ภาวะทุพพลภาพจะพบมากยิ่งขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มสูงขึ้น ประชากรสูงอายุจึงต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวันที่แตกต่างกันออกไป ตามระดับความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพ
อย่างไรก็ดี สวัสดิการที่ผู้สูงอายุได้รับจากภาครัฐ องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ในปัจจุบัน ยังมีความไม่ทั่วถึง การเข้าถึงสวัสดิการของผู้สูงอายุหลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal sector) ตลอดจนจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับการคุ้มครองก็มีจำกัด ทั้งเกิดจากปัญหาทางด้านการเงิน และบุคลากรผู้ให้บริการแก่ผู้สูงอายุไม่เพียงพอ ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุนอกระบบ (Informal care) โดยการดูแลของครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด จึงเป็นรูปแบบหลักของการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบัน ทั้งนี้ การรับภาระหลายด้านของผู้ดูแล คุณค่าของคนรุ่นหนุ่มสาวในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ และความคาดหวังการเกื้อหนุนจากบุตรหลานของผู้สูงอายุ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว อารมณ์ของผู้ดูแลและผู้สูงอายุ จึงต้องมีการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จึงได้ริเริ่มโครงการเฝ้าระวังทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดูแลระยะยาว เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะของผู้สูงอายุไทย ซึ่งเป็นการสังเคราะห์องค์ความรู้ในทุกๆ ด้านของผู้สูงอายุไทย ทั้งด้านประชากรศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร ในมิติต่างๆ ซึ่งมุ่งเน้นมิติที่ผู้สูงอายุเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย โดยการดึงศักยภาพของผู้สูงอายุออกมา เพื่อให้ทั้งผู้สูงอายุตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และสังคมเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ในฐานะที่เป็น “คลังแห่งสมองและภูมิปัญญา” รวมทั้งเป็น “ห่วงโซ่ทางวัฒนธรรม” ที่ถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญา วัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลัง
นอกจากนี้ ยังจะคาดประมาณประชากรสูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะทุพพลภาพ ตามรูปแบบการอยู่อาศัย (Living arrangement) และสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประชากรสูงอายุกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ขาดหลักประกันที่จำเป็น ควบคู่ไปกับการคาดประมาณประชากรสูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจาก
ภาวะทุพพลภาพและการเจ็บป่วย บนพื้นฐานของอายุคาดเฉลี่ยที่ปลอดทุพพลภาพ (Disability Free Life Expectancy: DFLE) ดัชนีพฤฒิพลัง (Active Ageing Index) และอัตราปราศจากภาวะเจ็บป่วย (Morbidity Free Rate) อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับภาครัฐ ในการเตรียมพร้อมในการดูแลประชากรสูงอายุเหล่านี้ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะ
เป็น การดูแลในระยะยาว (Long-Term Care: LTC) ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนบุคลากร ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ความต้องการการบริการในรูปแบบเฉพาะ รวมทั้งหลักประกันทางสุขภาพ และหลักประกันทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการนำมาใช้เพื่อพัฒนาเสริม
สร้างสุขภาวะประชากรสูงอายุของประเทศไทยต่อไป