ความตระหนัก การรับรู้ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของนร. มัธยมปลาย: กรณีศึกษาโรงเรียนในพื้นที่ศาลายา

Seminar no. 1263
21 May 2024 Time 12.30 – 13.30 hrs.

Speaker: สุพัตรา ณานประภัสร์ และนิธิพัฒน์ ประสาทกุล

โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นหนึ่งสถานการณ์สุขภาพที่คุกคามความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพซึ่งสามารถป้องกันได้ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารเป็นหนึ่งในสาเหตุ เด็กนักเรียนพื้นที่จังหวัดนครปฐมมีร้อยละภาวะอ้วน/เริ่มอ้วนทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลายมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 2.44 และ 2.46 การเกิดภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกิดจากการสะสมไขมันในกลุ่มประชากรเด็กซึ่งเป็นบุคคลที่อายุน้อย สามารถก่อให้เกิดปัญหาระยะสั้นและระยะยาวหลายมิติ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลาย 2) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการตระหนักรู้และพฤติกรรมการบริโภคอาหารในเด็กนักเรียนฯ 3) เพื่อเข้าใจมุมมอง วิธีคิด ของนักเรียนฯ ต่อการกินอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายา ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เก็บข้อมูลโดยแบบสอบถามออนไลน์ มีผู้ตอบกลับแบบสอบถามจำนวน 174 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 6 คน ผลการศึกษาพบว่า ค่าดัชนีมวลกายทั้งเพศชายและหญิงส่วนมากอยู่ในเกณฑ์ปกติ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ส่วนมากรับประทาน 1-3 วันในสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำอัดลมและอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน มีร้อยละสูงสุดสองอันดับแรกของผู้ที่ตอบว่าบริโภคตลอด 7 วันที่ผ่านมา ลักษณะทางประชากร (เพศ ระดับการศึกษา ค่าขนมจากผู้ปกครอง ค่าดัชนีมวลกาย) ไม่มีความสัมพันธ์กับการรับรู้และความตระหนักรู้ต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ในขณะที่ระดับการรับรู้และความตระหนักต่อการบริโภคอาหารมีความสัมพันธ์กับการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

Join Zoom Meeting
https://zoom.us/j/95735427051?pwd=WVdCY2ZiL0ZYYlhzMVlDak9aNDVEdz09

Meeting ID: 957 3542 7051
Passcode: 022343