The elderly Thailand prepared the 2561

The elderly Thailand prepared the 2561

Project Period: March – December 2019
Project Status: กำลังดำเนินการ
Principal Investigator: Pramote Prasartkul





วัตถุประสงค์:

  1. เพื่อนำเสนอข้อมูลสนับสนุนที่สามารถอ้างอิงในการตัดสินใจของผู้บริหารในการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านผู้สูงอายุของภาครัฐ
  2. เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2546 ใช้สำหรับตัดสินใจเพื่อวางแผนและนโยบายในระยะสั้นได้
  3. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้ บันทึกสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยสำคัญๆ สะสมไว้อย่างเป็นระบบสะท้อนพัฒนาการงานผู้สูงอายุไทย
  4. เพื่อเผยแพร่ความรู้ ให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป นำไปใช้ประโยชน์ในการงาน การศึกษา และการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันสถานการณ์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. มีเอกสารสำหรับการศึกษา ค้นคว้า และอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ สำหรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ที่สนใจโดยทั่วไป
  2. มีข้อเสนอแนะในเซิงนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้าน ผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ   พ.ศ.2546 ใช้สำหรับตัดสินใจเพื่อวางแผนและกำหนดนโยบายที่เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้
  3. มีแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้ บันทึกเหตุการณ์ สถานการณ์สำคัญๆ พัฒนาการงาน ผู้สูงอายุไทย เผยแพร่ให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป นำไปใช้ประโยชน์ในการงาน การศึกษา และการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันสถานการณ์

รายละเอียดโครงการ

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ได้รวบรวมสถิติข้อมูลสถานการณ์การสูงอายุของประชากรไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง-ประชากรที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อฉายภาพสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นเล่มรายงานที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมอบหมายจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ให้จัดทำ รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2556เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 
 
ในแต่ละฉบับจะมีอรรถบทพิเศษ เช่น เรื่องหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุไทย เรื่องผู้สูงอายุกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เรื่องการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทย เรื่องสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุไทย เรื่องการสูงวัยอย่างมีพลัง และสำหรับรายงานประจำปี 2561 นี้ มีอรรถบทที่เน้นเรื่องการทำงานของผู้สูงอายุไทย 
 
สถานการณ์การสูงอายุเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ได้นำเสนอทั้งในเรื่อง
  • ประชากรสูงอายุในโลก
  • ประชากรสูงอายุในอาเซียน
  • ประชากรสูงอายุในประเทศไทย 
คณะทำงานยังได้รวบรวมนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของคนไทยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และสรุปรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เพื่อเป็นฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ  
 
ที่สำคัญในแต่ละปีมีการเชิดชูผู้สูงอายุแห่งชาติ และศิลปินแห่งชาติซึ่งหลายท่านเป็นผู้สูงอายุ ที่ได้แสดงผลงานสร้างสรรค์ในศิลปะแขนงต่างๆ และเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมไทย
 
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ได้จากการจัดทำรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ มีดังนี้ 
 
สนับสนุนให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่อยู่อาศัยที่ช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
  1. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในที่อยู่อาศัยเดิม ในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ตนคุ้นชิน โดยปรับปรุงสถานที่ และสิ่งก่อสร้างทั้งภายในบ้านและภายนอกบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
  2. สนับสนุนคนในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ เช่น ให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ
  3. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเครือข่ายในชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุ เช่น มีระบบอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกลางวัน
  4. ส่งเสริมให้ อปท. และชุมชน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และจัดบริการสาธารณะโดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้สูงอายุ
  5. ยกระดับมาตรฐานของที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐหรือเอกชนสำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องไปอยู่ในที่อยู่อาศัยใหม่
 
สนับสนุนให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี
  1. สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุในการปกป้องตนเองจากภัยรอบด้านด้วยการให้ข่าวสารความรู้ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือ/กลไก/เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี
  2. ลด “วยาคติ” หรือแนวความคิดเชิงลบต่อผู้สูงอายุในหมู่ประชากรทุกเพศทุกวัย
  3. สนับสนุนให้กลุ่ม/ชมรมผู้สูงอายุมีบทบาทและความเข้มแข็ง
  4. ให้ทุกหน่วยงาน ครอบครัว และสถาบันการศึกษา มีส่วนร่วมรณรงค์ให้ประชาชนมีค่านิยมเอื้ออาทร เห็นคุณค่า และแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ
 
ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน
  1. ส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ
  2. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และวางแผนการออมเงินและใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ
  3. สนับสนุนให้กองทุนการออมแห่งชาติมีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการที่ดี
  4. มุ่งพัฒนาระบบบำนาญให้ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งปรับปรุงระบบเบี้ยยังชีพให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ/ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
 
จัดทำแผนช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดภัยพิบัติ
  1. ให้ อปท. ทุกระดับรวมผู้สูงอายุไว้เป็นกลุ่มเป้าหมายในแผนการป้องกัน/ รับมือภัยพิบัติ
  2. จัดทำ “คู่มือรับภัยพิบัติ” ที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นพิเศษเมื่อเกิดภัยพิบัติ
  3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภัยพิบัติจะต้องมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุในพื้นที่ซึ่งควรมีรายละเอียดเรื่องตำแหน่งที่อยู่ สถานะทางสุขภาพ และผู้สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน ข้อมูลเหล่านี้ต้องปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
  4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการซักซ้อมแผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้สูงอายุตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม
  5. ให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้สูงอายุในการเตรียมความพร้อม การดูแลตนเองและการฟื้นฟูหากเกิดภัยพิบัติ
ด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุไทย
  1. พัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการโดยจัดรถโดยสารรับส่งผู้สูงอายุ
  2. เพิ่มประสิทธิผลของการดูแลผู้สูงอายุนอกสถานพยาบาล โดยเฉพาะการดูแลระยะยาวที่บ้านและชุมชน
  3. ส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสมในผู้สูงอายุเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา
  4. เพิ่มประสิทธิผลการส่งเสริมสุขภาพ/ป้องกันโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานความดันเลือด การหกล้ม และสุขภาพจิต
  5. ส่งเสริมการออกกำลังกายและกิจกรรมทางสังคมด้วยการยกระดับระบบขนส่งโดยสารการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และระบบบริการปฐมภูมิ
  6. พัฒนาระบบสารสนเทศให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้แม่นตรงและทันสมัย
  7. จัดระบบบริการสาธารณสุขให้เอื้อต่อการให้บริการผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน เช่น ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพและระบบการดูแลระยะกลางในชุมชน
  8. ส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์ทุกสาขาวิชา พยาบาลและบุคลากรด้านสุขภาพอนามัยอื่นๆ ให้มีความรู้ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
  9. ส่งเสริมให้ประชาชนเริ่มสร้างและดูแลสุขภาพของตนตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี
  10. กำหนดตัวชี้วัดความก้าวหน้าของนโยบายและแผนที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเชื่อถือได้ เป็นไปได้ที่จะรวบรวม และมีความสอดคล้องระหว่างดัชนีกับเป้าหมาย