Gender, Sexual and Reproductive Health and Rights
Suchada Thaweesit
Cluster Coordinator
Email: suchadean@gmail.com
เพศภาวะ เป็นความคาดหวังและบรรทัดฐานที่สังคมมีต่อผู้หญิงและผู้ชายซึ่งแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน พฤติกรรม หรือ การแสดงออกซึ่งคุณลักษณะและบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนคำว่า เพศวิถี หมายถึง ความปรารถนาทางเพศ การแสดงออกทางเพศ พฤติกรรมทางเพศ การสืบพันธุ์ ความรัก ความสุขทางเพศ รสนิยมทางเพศ และ การเลือกคู่ครอง ทั้งเพศภาวะและเพศวิถี มีคุณสมบัติร่วมกันสองประการ คือ ถูกกำหนดด้วยวัฒนธรรม และมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นตัวผลักดัน
ผลการวิจัยจากหลายร้อยสังคมทั่วโลกช่วยยืนยันว่า เพศภาวะ และ เพศวิถี เป็นเงื่อนไขรากเหง้าของปัญหาเอชไอวี/เอดส์ และ ปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ สังคมใดที่มีวัฒนธรรมเพศภาวะและวัฒนธรรมเพศวิถีแบบนิยมชาย (Patriarchel Society) ขาดความยุติธรรมระหว่างเพศ ไม่มีความยืดหยุ่น และไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นสังคมที่กำลังเผชิญกับปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ ปัญหาท้องไม่พร้อม และ ปัญหาเอชไอวี/เอดส์ ที่หนักหน่วงกว่าสังคมที่มีรูปแบบความสัมพันธ์หญิงชายแบบเท่าเทียม เป็นประชาธิปไตย และมีความยืดหยุ่นสูง
สังคมไทย เป็นสังคมหนึ่งในจำนวนหลายร้อยสังคม ที่กำลังเผชิญกับปัญหาอนามัยเจริญพันธุ์ที่หนักหน่วงหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาท้องไม่พร้อม การเจ็บป่วยและเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาเอชไอวี/เอดส์ ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของผู้ชายเรื่องการวางแผนครอบครัวและการป้องกันเอดส์ ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมเพศภาวะและเพศวิถีของสังคมไทย กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัยของประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิง
ดังนั้นการศึกษวิจัยเกี่ยวกับ เพศวิถี เพศภาวะ อนามัยเจริญพันธุ์ และเอชไอวี/เอดส์ จึงมีความจำเป็นยิ่งยวดต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต การผลักดันการวิจัยในกลุ่มนี้อย่างจริงจังมีเป้าหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งชุดฐานข้อมูลและชุดองค์ความรู้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันนโยบายและการรณรงค์สาธารณะที่ไปสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงโครงสร้างสังคม-วัฒนธรรม และพฤติกรรมระดับปัจเจกบุคคล ให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจุบันสมัย ที่จะนำพาประชากรที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเข้าถึงสุขภาวะทางเพศได้อย่างถ้วนหน้า
2.1 กลุ่มงานวิจัยเรื่อง การวางแผนครอบครัว ภาวะเจริญพันธุ์ และการอนามัยแม่และเด็ก
เป็นงานวิจัยระหว่าง พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2539 ส่วนใหญ่เป็น งานวิจัยประเมินผลโครงการวางแผนครอบครัว โครงการศึกษาปัจจัยส่งเสริม และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการยอมรับวิธีการคุมกำเนิดวิธีต่างๆ รวมทั้งเป็นโครงการ วิจัยเพื่อประเมินผลและหาแนวทางส่งเสริมสนับสนุนงานอนามัยแม่และเด็ก เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแม่และเด็ก ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎี มัลธัสเซี่ยน ซึ่งเสนอว่า มาตรการควบคุมจำนวนประชากรของโลกเพื่อให้เกิดความสมดุลย์กับปริมาณอาหารที่มนุษย์ผลิตได้มีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ประเทศที่ยังมีอัตราการเจริญพันธุ์สูง นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากกระบวนทัศน์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่เน้นศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม ประชากร ที่เป็นตัว กำหนดพฤติกรรมการเจริญพันธุ์ การยอมรับการคุมกำเนิด และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชากร
2.2 กลุ่มงานวิจัยเรื่องเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อนามัยเจริญพันธุ์ และ สุขภาวะทางเพศ
เป็นกลุ่มงานวิจัย ที่เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จกว่า 80 เรื่อง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย
กลุ่มแรก เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์การระบาดของโรคเอดส์ มุ่งศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศคติเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ พฤติกรรมเสี่ยงเอดส์ และ ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคเอดส์ของประชากรกลุ่มต่างๆ เช่น ประชากรเขตเมือง ประชากรเขตชนบท เยาวชนทั้งหญิงและชาย พนักงานขายบริการทางเพศ กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม คนขับรถบรรทุก มอเตอร์ไซด์รับจ้าง และ แรงงานต่างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยประเมินผลการดำเนินงานด้าน เอดส์และนโยบายด้านเอดส์ในระดับชาติ การศึกษาเรื่องเครือข่ายด้านเพศสัมพันธ์ของประชากรกลุ่มเสี่ยง การวิจัยกลุ่มนี้มองปัญหาโรคเอดส์ในลักษณะที่เป็นปัญหา เชิงพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ กรอบแนวคิดหลักที่นำมาใช้ คือ แนวคิดด้านระบาดวิทยาทางสังคม และพฤติกรรมศาสตร์
กลุ่มสอง เป็นงานวิจัยซึ่งรับอิทธิพลจากแนวคิดใหม่ด้านประชากรและการพัฒนา ที่เดิมให้ความสำคัญกับการควบคุมจำนวนประชากรและการวางแผนครอบครัว เท่านั้น เปลี่ยนมาเน้นเรื่องสิทธิการอนามัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนการเข้าถึงบริการ และคุณภาพของบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์จากรัฐ งานวิจัยในกลุ่มนี้ของ สถาบันฯ เริ่มต้นขึ้นราว พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา นักวิจัยนำกรอบแนวคิดเรื่องเพศภาวะ เพศวิถี และ สุขภาวะทางเพศ มาศึกษาปัญหาเรื่องโรคเอดส์ ตลอดจนปัญหา อนามัยเจริญพันธุ์แต่ละด้าน ได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์ การขายบริการทางเพศ ฯลฯ โดยมีโครงการวิจัยเด่นๆ หลายโครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างและจัดการความรู้ด้านเพศวิถี เพศภาวะ และ สุขภาพทางเพศ (ตามยุทธศาสตร์ 1 ในแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ) โครงการสำรวจภาวะ สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของหญิงบริการในประเทศไทย โครงการจากแผนงานสู่นโยบาย: หลักฐานเชิงประจักษ์ในการสร้างนโยบายสุขภาวะทางเพศ และเอชไอวี/เอดส์ ในอนุภาคลุ่มน้ำโขง รัฐไทยกับการปรับเปลี่ยนนโยบายเอดส์และอนามัยเจริญพันธุ์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โครงการส่งเสริมการเข้าถึง บริการอนามัยเจริญพันธุ์เยาวชนย้ายถิ่นในกรุงเทพมหานคร ชุดโครงการวิจัยเพื่อวางฐานรากองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนสุขภาวะทางเพศ และ การเสริมสร้างการวิจัยเชิงปฏิบัติการระยะยาวในด้านอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น
2.3 กลุ่มงานวิจัยเรื่องเพศภาวะที่เน้นเฉพาะงานพัฒนาสุขภาวะผู้หญิง
ในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมาสถาบันฯ มีการวิจัยด้านการพัฒนาสุขภาวะผู้หญิง 5 เรื่อง ได้แก่ 1) การประเมินผลในระยะครึ่งแรก ของการดำเนินงานเสริมสร้างพลังอำนาจของสตรีและวัยรุ่น (2551) 2) การศึกษาความเป็นผู้นำเชิงเศรษฐกิจของสตรีชนบท : ศึกษาเฉพาะกลุ่มอาชีพเสริมในจังหวัดกาญจนบุรี (2545) 3) ความรับผิดชอบด้านครอบครัวและการทำงานที่มีผลต่ออนามัยของผู้หญิงทำงาน (2541) 4) การ ศึกษาบทบาทเชิงเศรษฐกิจในครอบครัวของผู้หญิง (2536) และ 6) การเปลี่ยนแปลงบทบาทและสถานภาพของสตรีไทย (2531)
สถาบันฯ จะมุ่งพัฒนางานวิจัยด้านเพศภาวะ เพศวิถี อนามัยเจริญพันธุ์ และเอชไอวี/เอดส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเติมองค์ความรู้ด้านนี้ที่ขาดหายไปอันจะมีประโยชน์ต่อการนำมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะทางเพศของกลุ่มต่างๆ โครงการวิจัยที่สถาบันฯ อาจจะพัฒนาขึ้นมาใหม่ ได้แก่
- การวิจัยเรื่องความหมายเกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ ความเป็นหญิง และ ความเป็นชาย ที่ส่งผลต่อการใช้หรือไม่ใช้วิธีการป้องกันการตั้งครรภ์และการป้องกันโรคติดต่อ
- ทางเพศสัมพันธ์ของเยาวชน การวิจัยเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิทางเพศของเยาวชน
- การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดความไม่เสมอภาคและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายในบริบทของครอบครัวและการตัดสินใจเรื่องเพศวิถีและอนามัยเจริญพันธุ์
- การวิจัยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางเพศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชากรกลุ่มเปราะบาง (เช่น เพศทางเลือก พนักงานบริการทางเพศทั้งหญิงและชาย
- กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด และ แรงงานข้ามชาติ)
- การวิจัยเพื่อสนับสนุนการยุติความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมความยุติธรรมทางเพศ
- การวิจัยเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการสร้างสุขภาวะทางเพศและทางสังคมของผู้หญิง
- การวิจัยเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของผู้หญิงกลุ่มอัตลักษณ์ต่างๆ
- การวิจัยสุขภาวะทางเพศผู้ขายแรงงานไทย (งานบริการ) ในต่างประเทศ
- การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่รวมภาคีหุ้นส่วนต่างๆ เข้ามาทำความเข้าใจกับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย เช่น ครอบครัว ผู้ปกครอง โรงเรียน เป็นต้น