Migration, Urbanization and Labour
Nara Khamkhom
Cluster Coordinator
Email: nara.kha@mahidol.ac.th
กลุ่มวิจัยการย้ายถิ่น ความเป็นเมืองและแรงงานศึกษา โดยมุ่งเน้นเพื่อที่จะศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย การย้ายถิ่นภายในประเทศ การย้ายถิ่นระหว่าง ประเทศ ความเป็นเมือง การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ อาณาบริเวณศึกษา (area studies) กำลังแรงงานและตลาดแรงงาน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ การนำแนวคิด ทฤษฎี และ ระเบียบวิธีวิจัยมาใช้ในการศึกษาและนำผลของการศึกษาไปสู่การกำหนดนโยบาย กรอบวิสัยทัศน์และทิศทางการวิจัยในอนาคต กลุ่มวิจัยนี้สนับสนุนการศึกษาที่เป็นสหสาขาวิชา ในสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะป็นการย้ายถิ่น ภายในประเทศหรือการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยประชากรและสังคมได้ให้ความสนใจในประเด็นของการย้ายถิ่นตั้งแต่ช่วงต้นของการก่อตั้งสถาบันฯ และเป็นสถาบันแนว หน้าที่ให้ความสนใจในประเด็นของการย้ายถิ่น โดยได้ร่วมมือกับองค์กร และสถาบันต่างๆเพื่อศึกษาการย้ายถิ่นตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ใน พ.ศ. 2553 สถาบันฯ ได้ก่อ ตั้ง “ศูนย์การศึกษาการย้ายถิ่นมหิดล” เพื่อสร้างเครือข่ายและจัดการองค์ความรู้เรื่องการย้ายถิ่น ตลอดจนศึกษาสารัตถะของการย้ายถิ่นโดยใช้แนวคิดทฤษฎีและระเบียบวิธีที่มาจาก สหสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็น ประชากรวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์ และนำผลการศึกษาเชิงประจักษ์เชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาประเทศ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ได้ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และหากนับตั้งแต่ประเทศไทย เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ก่อให้เกิดการพัฒนาการด้าน การสื่อสาร และคมนาคม อันเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายของผู้คนมากขึ้น
จนทำให้เกิดกระแสการย้ายถิ่นย้ายถิ่นในรูปแบบต่าง โดยฉพาะอย่างยิ่งกระแสการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมืองหลวงและเมืองใหญ่ต่างๆ ซึ่งความเจริญที่แตกต่างกันระหว่าง เมืองกับชนบทเป็นแรงดึงดูดประชากรจากชนบทสู่เมือง การย้ายถิ่นจากชนบทสู่ชนบทจึงเป็นกระแสการย้ายถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนั้นแล้วยังมีกระแสการย้ายถิ่นใน รูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ การย้ายถิ่นจากเมืองสู่เมือง, การย้ายถิ่นจากเมืองสู่ชนบท, ซึ่งปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงของการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นตามฤดูกาล (ได้เข้ามามี บทบาทมากขึ้นในการสนองตอบต่อผู้คนในชนบทที่ต้องการรายได้เพิ่มเติมช่วงเว้นว่างจากฤดูการผลิต) และ การเดินทางไปกลับเพื่อทำงานในเมืองของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆ เมืองใหญ่
กล่าวได้ว่า รูปแบบและสาเหตุของการย้ายถิ่นของผู้คนนั้นมีความสลับซับซ้อน และมีปัจจัยหลายระดับเข้าเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ระดับบุคคล ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับชาติ ที่ผ่านมาการศึกษาการย้ายถิ่นภายในประเทศเริ่มต้นด้วยการศึกษา แบบแผนการย้ายถิ่น ตัวกำหนดของการย้ายถิ่น หลังจากนั้น ได้ขยายไปสู่การศึกษาผลกระทบที่ เกิดจากการย้ายในถิ่นปลายทางและถิ่นต้นทางในระดับจังหวัด ซึ่งทางสถาบันฯ เห็นว่า จังหวัดเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนโยบายโดยตรง ความรู้และความเข้าใจลักษณะการ กระจายตัวของประชากรภายในจังหวัด จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และเพิ่มประสิทธิภาพในโครงการพัฒนาต่างๆ
แต่ดูเหมือนว่าการศึกษาตัวกำหนดและผลกระทบยังไม่เพียงพอต่อการศึกษาเรื่องของการย้ายถิ่น ดังนั้นจึงได้ขยายการศึกษาไปถึงปัจจัยอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเน้น ที่ไปการพัฒนากับการย้ายถิ่น และ การจัดการการย้ายถิ่น เพื่อที่จะเชื่อมโยงเข้ากับการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง
นอกจาก กระแสการย้ายถิ่นภายในประเทศดังกล่าวมาแล้วข้างต้น กระแสการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนรัฐชาติของประชากร และแรงงาน ก็มีความเร่งตัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการไหลบ่าของกระแสโลกไร้พรมแดน การพัฒนาการคมนาคมขนส่งที่เป็นปัจจัยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายของผู้คน และ ประกอบกับการรวมตัวของ ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ภายใต้แนวคิด “หนึ่งภูมิภาคหนึ่งประเทศ” อันเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายของผู้คนระหว่างพรมแดนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไหลทะลักเข้ามา ของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศปลายทางของประชากรจากประเทศเพื่อน เพื่อเข้ามาแสวงหาโอกาสในทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันแรงงาน ข้ามชาติเหล่านี้ ก็ได้เข้ามาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภาคธุรกิจภายในประเทศ โดยช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ และทดแทนกำลังแรงงานระดับล่างซึ่งขาดแคลน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
ที่ผ่านมาสถาบันฯได้ให้ความสนใจในเรื่องของการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น รูปแบบ โครงสร้าง ปัญหาของการอพยพย้ายถิ่นระหว่างประเทศ และการรวบรวมประเด็นต่างๆเกี่ยวกับนโยบายการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ
จากการเพิ่มขึ้นและความหลากหลายของการย้ายถิ่น ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม มีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง การให้ความสำคัญกับตัวกำหนด ปัญหาอุปสรรค ผลกระทบ และปัจจัยอำนวยความสะดวกต่างๆจึงยังมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการ บริหารจัดการการย้ายถิ่นทั้งภายในและระหว่างประเทศ
ความเป็นเมืองหรือเขตเมืองนั้น เป็นปัจจัยดูดอย่างหนึ่งในการย้ายถิ่นของประชากร ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีว่าความเป็นเมืองใหญ่ได้ให้โอกาสแก่ประชากรในด้านการศึกษา อาชีพ ที่อยู่อาศัย ภายใต้ระบบการขนส่งมวลชนที่มีมากกว่าเขตชนบทและเมืองเล็ก อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของความเป็นเมืองก็มาพร้อมกับปัญหาและผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นตามไป ด้วย เช่น ความหนาแน่นในเขตเมือง การทำลายสิ่งแวดล้อม ภาวะว่างงาน ความยากจน และปัญหาสุขภาพอนามัยอื่นที่เกี่ยวข้อง
สถาบันวิจัยประชากรและสังคมได้ให้ความสนใจประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับการกระจายและการกระจุกตัวของประชากร การศึกษาประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเมืองในระยะแรก ได้เน้นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเมือง กับอัตราเกิดประชากร และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ต่อมาในช่วง ทศวรรษ 1980 ประเด็นการศึกษาได้ขยายการวิเคราะห์ในประเด็นพฤติกรรมทางด้านประชากรศาสตร์ เช่น การเกิด การตาย การย้ายถิ่น และโครงสร้างและขนาดของครัวเรือน โดยศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างในพื้นที่เมืองและชนบท และขยายขอบเขตการศึกษาความเป็นเมืองของประเทศไทย โดยการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการเน้นหนักไป ในประเด็นการพัฒนาและการขยายเมือง โดยให้ความสำคัญกับการวางผังเมือง และการแก้ปัญหาชุมชนแออัด ประเด็นการศึกษาในระยะหลังเน้นการวิเคราะห์ในด้านปัญหาจาก การพัฒนา ผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทั้งในระยะสั้น และระยะยาวที่มีต่อประชากรในพื้นที่
กลุ่มการวิจัยจึงได้มุ่งประเด็นความสนใจไปในประเด็นผลกระทบทางสังคม ที่เกิดจากความเป็นเมืองในบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนา นโยบายรัฐ เศรษฐกิจ และการ ตั้งถิ่นฐานในเขตเมือง ในการศึกษาสาระสำคัญของความเป็นเมืองนั้น สถาบันฯมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับงานวิจัยที่ให้ผลเชิงประจักษ์ อันนำมาซึ่งการขยายแนวคิดทฤษฎีที่ เกี่ยวข้องการในการศึกษาความเป็นเมือง และวิถีชีวิตเมือง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเป็นเมือง
ประเด็นการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เป็นประเด็นที่สถาบันฯได้ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ชุมชน หรือเมืองนั้น จะต้องประกอบไปด้วยองค์กรต่าง ๆ ทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ เพื่อให้เกิดการคงอยู่แบบยั่งยืนของการตั้งอยู่ของถิ่นฐานนั้นๆ เพื่อเป็นการรับประกันว่าประชากรที่อาศัย อยู่จะได้รับการตอบสนองบนพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่อยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ ที่มีความสะดวกสบายและปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบางพื้นที่นั้น มีความเสี่ยงและความเปราะบางต่อความเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีนัยต่อความอยู่ดีมีสุขของผู้คน ดังนั้นกลุ่มงานวิจัย มุ่งให้มีการใช้แนวคิดทฤษฎีและข้อค้นพบจากงานวิจัยในเชิงประจักษ์เพื่อให้เกิดนโยบายที่มีประสิทธิภาพใน \ การจัดการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
สถาบันฯได้ให้ความสนใจในประเด็นอาณาบริเวณศึกษา เนื่องจากเป็นการศึกษาที่ต้องใช้ความรู้จากสหสาขาวิชาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ในพื้นที่เฉพาะ โดยมีปรัชญา เพื่อผสมผสานแนวคิดทฤษฎีจากหลากหลายสาขาวิชาในการศึกษาเพื่อให้เข้าใจพื้นที่และประชาชนในพื้นที่ที่ศึกษา อันนำไปสู่นโยบายที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพื้น ที่เฉพาะได้ ทั้งนี้สถาบันฯ ได้ให้ความสำคัญในอาณาบริเวณลุ่มน้ำโขง อุษาคเนย์ และภูมิภาคเอเชียโดยรวมด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและองค์ประกอบประชากร ส่งผลต่อกำลังแรงงานและการจ้างงานอย่างแน่นอน กำลังแรงงานจึงเป็นมิติที่สำคัญทางประชากร โดยคุณลักษณะแรงงานจะเป็นตัวกำหนดผลผลิตของแรงงานซึ่งเชื่อมโยงกับความสามารถในการผลิตระดับชาติ ขณะที่ความต้องการใช้แรงงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ ควบคุมโดยภาคธุรกิจ จะเป็นตัวกำหนดการจ้างงานในตลาดแรงงาน ซึ่งเกิดผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ สถาบันฯได้เริ่มการศึกษาประเด็นแรงงานและการจ้างงาน มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ โดยในช่วงทศวรรษ 1970 ได้ศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างกำลังแรงงานกับอัตราเกิดประชากร และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและ เศรษฐกิจ และเพิ่มประเด็นการศึกษาแบบเจาะลึกในแรงงานกลุ่มต่างๆในช่วงทศวรรษต่อๆมา เช่น กลุ่มแรงงานเด็ก แรงงานสตรี และ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น