Seminar no. 1319
2 April 2025 Time: 12:30 – 13:30 hrs.
Speaker: คุณทิฆัมพร สิงโตมาศ และคุณปรียา พลอยระย้า (นักศึกษาปริญญาเอก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล)
ณ ห้องประชุม 109 สระบัว ชั้น 1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
ประสบการณ์สูญเสียสัตว์เลี้ยงของครอบครัวหลากสายพันธุ์ในประเทศไทย
นำเสนอโดย: คุณทิฆัมพร สิงโตมาศ
หัวข้อนี้ศึกษาประสบการณ์สูญเสียสัตว์เลี้ยงของครอบครัวหลากสายพันธุ์ (Multispecies Families) ในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงครอบครัวที่ประกอบด้วยมนุษย์และสัตว์เลี้ยง โดยสัตว์ได้รับการนิยามในฐานะสมาชิกของครอบครัวที่มีอารมณ์ ความรู้สึก และความสำคัญต่อชีวิตทางสังคมของมนุษย์ การศึกษาพิจารณา 3 ประเด็น คือ 1) มุมมองและความหมายของการสูญเสียสัตว์เลี้ยง 2) ผลกระทบจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงต่อมนุษย์ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ และ 3) แนวทางจัดการความสูญเสีย โดยใช้แนวคิดการประกอบสร้างความจริงทางสังคม หลากสายพันธุ์นิพนธ์ (Multispecies Ethnography) และความตายศึกษาแบบเควียร์ (Queer Death Studies) มาเป็นกรอบการศึกษา เพื่อสำรวจว่า 1) บริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมหล่อหลอมประสบการณ์ ความหมาย และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยงอย่างไร และ 2) ความสัมพันธ์แบบหลากสายพันธุ์นำมาสู่การปะทะ/ประสาน/ปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานการจัดการความตายและความโศกเศร้าในสังคมไทยอย่างไร
การศึกษาความสัมพันธ์ของความยืดหยุ่นในการทำงานกับความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของคนทำงานในองค์กร
นำเสนอโดย คุณปรียา พลอยระย้า
ในยุคปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมการทำงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้แรงกดดันจากเทคโนโลยี การแข่งขันทางวิชาการ และความต้องการสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน การทำงานแบบยืดหยุ่น” (Flexible Working) จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรทั่วโลกให้ความสนใจ ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งบุคลากรทั้งสายวิชาการและสนับสนุนต่างเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัว สำหรับประเทศไทย แม้แนวคิดการทำงานแบบยืดหยุ่นจะเริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 แต่คำถามที่ยังคงต้องการคำตอบเชิงประจักษ์คือ การทำงานแบบยืดหยุ่นส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของบุคลากรมหาวิทยาลัยไทยจริงหรือไม่? รวมไปถึงมุมมองของคนทำงานต่อการทำงานแบบยืดหยุ่น และปัจจัยใดบ้างที่ส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของนโยบายนี้? การศึกษานี้จึงมุ่งสำรวจความสัมพันธ์ดังกล่าวผ่านกรอบแนวคิด PERMA Model ของ Seligman (2011) ซึ่งครอบคลุม 5 มิติหลักของความเป็นอยู่ที่ดี
ผู้ดำเนินรายการ: คุณรัตนศักดิ์ เจริญทรัพย์