การถูกทอดทิ้งและการทอดทิ้งผู้อื่นของผู้สูงอายุไทย

การถูกทอดทิ้งและการทอดทิ้งผู้อื่นของผู้สูงอายุไทย

Abstract

นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาวิจัยประชากรและสังคม 2 ท่าน เสนอหัวข้อที่สนใจในการทำวิทยานิพนธ์ เพื่อนำข้อเสนอแนะไปเป็นแนวทางในการทำวิทยานิพนธ์ต่อไป โดยเสนอ 2 เรื่องดังนี้ 1. เรื่อง การถูกทอดทิ้งและการทอดทิ้งผู้อื่นของผู้สูงอายุไทย โดยนางสาวรัตนาวดี แก้วเทพ สังคมไทยในปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านโดยเฉพาะด้านประชากรที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2564 นั้น มีการรายงานเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุจากหลายหน่วยงานที่สะท้อนให้เห็นถึงปํญหาที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ในลักษณะที่คล้ายกับการทอดทิ้ง เช่น สถิติการที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว ปีพ.ศ. 2545, 2550, 2554, 2557และ 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งพบ 6.3%, 7.6%, 8.6%, 8.7% และ 10.8% ตามลำดับ สถิติการที่ผู้สูงอายุอยู่ลำพังกับคู่สมรส ปี พ.ศ. 2545, 2550, 2554, 2557และ 2560 แนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งพบ 17.0%, 17.6%, 17.6%,20.6% และ23.3% ตามลำดับ [1] และสถิติการแจ้งเหตุของผู้สูงอายุมายัง ศูนย์รับแจ้งเหตุ 1300 พบว่ามีการแจ้งเหตุมากที่สุดเรื่อง การไม่มีคนดูแล (56.1%) [2] เป็นไปได้ว่าปัจจัยที่ส่งเสริมให้การทอดทิ้งผู้สูงอายุนั้นอาจะเกิดจากตัวผู้สูงอายุเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมที่มีผลในระดับที่แตกต่างกัน ได้แก่ ความเสื่อมทางด้านร่างกายและสมองของผู้สูงอายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการกระทำความรุนแรง การกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุในประเทศไทยยังเป็นปัญหาที่ถูกเก็บซ่อนเนื่องจากสังคมไทยที่มีลักษณะประนีประนอมอาจจะทำไห้เกิดการกระทำความรุนแรงได้ง่ายขึ้น โดยสมาชิกภายในครอบครัว รวมถึงการศึกษาวิจัยเรื่องการทอดทิ้งผู้สูงอายุในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาเกี่ยวกับการถูกทอดทิ้งและการทอดทิ้งผู้อื่นของผู้สูงอายุไทย และนำผลการศึกษาไปเสนอแนะทางด้านนโยบายและกฏหมายเพื่อป้องกันและลดอัตราการทอดทิ้งและการทอดทิ้งผู้อื่นของผู้สูงอายุไทยต่อไป 2. เรื่อง การรู้เนื้อหาสุขภาพในสื่อมีผลต่อพฤติกรรรมการดำเนินชีวิตและดัชนีมวลกายของเด็กไทย โดยนางนงนุช ใจชื่น ปัจจัยด้านบุคคล (เช่น ความกังวลเรื่องรูปร่าง รสชาติ) และปัจจัยทางสังคม (เช่น พ่อแม่ เพื่อน ครุ) มีอิทธิพลต่อการกินของเด็ก และหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการกินและการมีกิจกรรมทางกายของเด็ก คือ การเปิดรับสื่อ ข้อมูลเชิงวิชาการมีจำนวนจำกัดที่แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพในสื่อ พฤติกรรรมการดำเนินชีวิต และดัชนีมวลกายของเด็กไทย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยด้านประชากร สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติกรรมการใช้สื่อ การรู้เนื้อหาสุขภาพในสื่อ มีผลต่อพฤติกรรรมการดำเนินชีวิต (การกินและการออกกำลังกาย) และดัชนีมวลกายของเด็กไทย การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ภูมิทัศน์สื่อ พฤติกรรมการบริโภคสื่อ และการรู้เท่าทันสื่อทางสุขภาพสำหรับเด็กไทยอายุ 10-14 ปี พ.ศ. 2562-2563 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มีแผนการสุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นแบบชั้นภูมิสองขั้นตอน (Stratified Two – Stage Sampling) ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรู้เนื้อหาสุขภาพในสื่อ พฤติกรรมทางสุขภาพ และดัชนีมวลกาย วิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก (Logistic Regression) ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษานี้ คือ ได้ข้อมูลปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและดัชนีมวลกายของเด็กไทย เพื่อนำไปใช้วางแผนและกำหนดนโยบายอันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการสุขภาพ และปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน 
 
ผู้ดำเนินรายการ :นายสุริยา คลังฤทธิ์

February 12, 2020 Time: 12:30-13:30 hrs. at 109 Sabua Room, 1st Floor