การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิง และกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง

การขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิง และกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง

Project Period: October 2013 – December 2014
Project Status: กำลังดำเนินการ
Principal Investigator: Kritaya Archavanitkul





วัตถุประสงค์:

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดำเนินงานโดย สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม
พฤศจิกายน 2556-มกราคม 2558

ภาคียุทธศาสตร์: กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หลักการและเหตุผล

It is said that no one truly knows a nation until one has been inside its jails. A nation should not be judged
by how it treats its highest citizens, but its lowest ones.

Nelson Mandela

ก่อนพ.ศ. 2538 ตัวเลขจำนวนผู้ต้องขังในประเทศไทยมีต่ำกว่าหนึ่งแสนคน แต่มาเพิ่มมากขึ้น อย่างชัดเจนในช่วง พ.ศ. 2544 ที่ทะยานสูงไปถึง 2.5 แสนคน ซึ่งเป็นปีที่มีการประกาศนโยบายสงครามต้านยาเสพติด จำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดที่สูงขึ้นอย่างมากใน
ช่วงเวลานั้น

ตาราง 1 จำนวนนักโทษในประเทศไทย พ.ศ. 2535-2556

พ.ศ. จำนวนนักโทษ อัตราต่อแสน
2535 73,309 126
2538 111,028 186
2541 134,451 267
2544 250,903 393
2547 167,142 253
2550 138,656 249
2553 200,280 290
2556 228,813 373

ที่มา: ก. http://www.prisonstudies.org/info/worldbrief/wpb_country_print.php?country=114. Retrieved May 7, 2013
ข.ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร กรมราชทัณฑ์ http://www.correct.go.th/correct2009/stat.html

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำของประเทศไทยนั้น มิได้เป็นนักโทษคดีเด็ดขาดที่หมายถึงมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดแล้ว แต่ยังรวมผู้ต้องขังอีก 3 ประเภทคือ (1) ผู้ต้องขังที่คดีผ่านศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์แล้ว และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือฎีกา (2) ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการไต่สวน พิจารณาคดี และ (3) ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่อาจถูกส่งฟ้องหรือไม่ก็ได้ ผู้ต้องขัง 3 กลุ่มนี้ ถูกจำขังไว้ก็เพราะไม่สามารถขอประกันตัวได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังในกลุ่มนี้จึงเป็นคนยากจนเพราะไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์มาประกันตน สะท้อนว่าระบบการประกันตัวยังไม่มีมาตรฐาน บางคนถูกกล่าวหาด้วยโทษเล็กน้อยแต่ต้องวางหลักประกันเกือบเทียบเท่าคดีฆ่าคนตาย

ตาราง 2 แสดงจำนวนนักโทษในปี 2556 จำแนกตามเพศและประเภทผู้ต้องขัง เห็นได้ว่าจำนวนผู้ต้องขังเป็นชายมากกว่าผู้ต้องขังหญิงสูงถึง 5.9 เท่า แต่เมื่อจำแนกเป็นประเภทผู้ต้องขังเปรียบเทียบระหว่างชายและหญิงแล้วไม่แตกต่างกันนัก คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดประมาณร้อยละ 73 (ดูรูป 1)

ตาราง 2 จำนวนผู้ต้องขังทั้งประเทศแยกเพศและประเภทผู้ต้องขัง สำรวจเมื่อ 1 เมษายน 2556

ประเภท ชาย หญิง รวม ร้อยละ (%)
1. นักโทษเด็ดขาด 166,454 28,313 194,767 72.74
2. ผู้ต้องขังระหว่าง 60,587 10,453 71,040 26.53
2.1 อุทธรณ์-ฎีกา 31,176 4,836 36,012 13.45
2.2 ไต่สวน-พิจารณา 9,856 1,894 11,750 4.39
2.3 สอบสวน 19,555 3,723 23,278 8.69
3. เยาวชนที่ฝากขัง 233 14 247 0.09
4. ผู้ถูกกักกัน 17 3 20 0.01
5. ผู้ต้องกักขัง 1,522 169 1,691 0.63
รวมผู้ต้องราชทัณฑ์ 228,813 38,952 267,765 100.00

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร กรมราชทัณฑ์ http://www.correct.go.th/correct2009/stat.html

รูป 1 แสดงประเภทผู้ต้องขังเปรียบเทียบระหว่างผู้ต้องขังชายและผู้ต้องขังหญิง

การที่จำนวนผู้ต้องขังมีสูงร่วม 3 แสนคน ทำให้ปัญหาในเรือนจำที่เป็นอันดับแรก และมีการกล่าวถึงมากที่สุดคือ ปัญหา 'คนล้นคุก' โดยหากคำนวณจากพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศจำนวน 145 แห่ง ตามความจุมาตรฐานนักโทษ 1 คนต่อพื้นที่ 2.25 ตารางเมตร คิดเป็นความจุเพียง 109,087 คน1 ดังนั้น จากตัวเลขปี 2556 เรือนจำของไทยมีผู้ต้องขังเกินความจุมาตรฐานสูงถึง 119,726 คน! ข้อเท็จจริงนี้ถูกระบุในรายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2555 ของสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่า "ไทย" มีปัญหาสภาพเรือนจำแออัดคับแคบมาก2

รายงานวิจัยเรื่อง "คุกไทย 2554" ของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ระบุถึงสภาพปัญหาของเรือนจำไทย นอกจากการที่คนมากเกินพื้นที่แล้ว ยังมีปัญหาที่เชื่อมโยงกับสุขอนามัยทั้งทางกายและจิตใจของผู้ต้องขังอีกจำนวนมาก ได้แก่ จำนวนแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอต่อผู้ต้องขังที่ป่วย
โดยเฉพาะแพทย์ทางด้านจิตเวชขาดแคลนมาก ทั้งที่ผู้ต้องขังจำนวนมากมีปัญหาสภาพทางจิต ปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายเรือนจำ3

ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากรายงานนี้คือ ผู้ต้องขังหญิงไม่เพียงมีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดกว่า แต่ยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในกฎเกณฑ์การปฏิบัติตัวมากกว่าผู้ต้องขังชายมาก ทำให้ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่รู้สึกถูกกดดันและมีความเครียดสูงกว่าผู้ต้องขังชาย ผู้ต้องขังหญิงจึงเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะที่สมควรได้รับการพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาสร้างเสริมคุณภาพชีวิต

สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดประชุมหารือเพื่อจัดทำกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 โดยสำนัก 9 ที่ทำงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ และได้ข้อสรุปของกรอบแนวคิดในการทำงานว่า นอกจากงานที่ต้องทำกับผู้ต้องขังหญิงและเจ้าหน้าที่โดยตรงในเรือนจำ โดยเฉพาะการเยียวยาด้านจิตใจและสร้างเสริมพลังภายในตัวตนของผู้ต้องขังหญิงแล้ว ยังควรต้องทำงานกับชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่ภายนอก ที่จะช่วยโอบอุ้มให้ผู้ต้องขังหญิง มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืนด้วย

งานอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบเรือนจำ และระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่มาของโครงการวิจัยและรณรงค์เชิงนโยบายนี้ ที่กำหนดเป้าหมายเพื่อสื่อสารสาธารณะกับภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์ และกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นต่อผู้ต้องขังหญิงต่อไปในอนาคต

รายละเอียดกิจกรรมของโครงการ

  1. ทำการศึกษาวิจัยเอกสารสถานการณ์เรือนจำในประเทศไทย โดยเฉพาะเรือนจำผู้ต้องขังหญิง
  2. เก็บข้อมูลสถานการณ์จริงในเรือนจำผู้ต้องขังหญิงในหลากหลายลักษณะทั่วทุกภาคของประเทศไทยประมาณ 12 แห่ง
  3. จากกิจกรรมที่ 1 และ 2 ผนวกการจัดประชุมหารือกับคณะนักวิจัยอีก 3 โครงการ4 ที่ลงทำงานในเรือนจำผู้ต้องขังหญิง ร่วมพัฒนาเป็นหัวข้อการจัดประชุมเชิงนโยบาย รวม 5 เรื่อง
  4. จัดเวทีประชุมเชิงนโยบายนำเสนอเรื่องที่ต้องการปฏิรูปกับตัวแทนภาคีองค์กรที่มีผู้ส่วนร่วมประมาณ 40-50 คน รวม 5 ครั้ง
  5. หลังจากการประชุมประมาณ 1 เดือน จะมีผลการประชุมออกเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย (policy brief) ประมาณ 4 หน้า เพื่อนำเสนอผลต่อสื่อและภาคีที่ทำงานเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
  6. จัดเวทีนำเสนอแผนการปฏิรูปเรือนจำผู้ต้องขังหญิงและระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องจำ ต่อภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชน

หัวข้อการจัดประชุมเชิงนโยบาย 5 เรื่อง

เรื่อง วันที่ เดือน ปี และสถานที่
1. ผู้ต้องขังหญิงล้นคุก อังคาร 29 ก.ค. 2557 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2. ปัญหาสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพจิตผู้ต้องขังหญิง ปลายกันยายน 2557 จะกำหนดวันที่แน่นอนต่อไป
3. การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเรือนจำผู้ต้องขังหญิง ปลายตุลาคม 2557 จะกำหนดวันที่แน่นอนต่อไป
4. สถานการณ์และปัญหาผู้ต้องขังหญิงต่างชาติ* ปลายพฤศจิกายน 2557 จะกำหนดวันที่แน่นอนต่อไป
5. การคืนผู้ต้องขังหญิงกลับสู่ชุมชน* ปลายพฤศจิกายน 2557 จะกำหนดวันที่แน่นอนต่อไป

* จัดวันเดียวกัน


1 กรมราชทัณฑ์เร่งแก้วิกฤติคุกไม่พอขังนักโทษอาชญากรรายใหญ่. 23 มิถุนายน 2552. ค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2556, จาก รัฐบาลไทย เว็บไซต์: http://www.thaigov.go.th/th/useful-information/item/32847-.html.
2 รายงานสิทธิมนุษยชนสหรัฐชี้ "ไทย" มีปัญหาเสรีภาพทางความคิด-สภาพเรือนจำแย่. 15 พฤษภาคม 2556. ข่าวสด.
3 เปิดคุกไทย 2554 เทียบคุกฝรั่งเศส และบางคำตอบจากราชทัณฑ์. 6 มิถุนายน 2554. ค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2556, จาก ประชาไทย เว็บไซต์: http://prachatai.com/journal/2011/06/35301.
4 โครงการวิจัยปฏิรูปเรือนจำ: สร้างชุมชนแห่งความห่วงใย เพื่อพัฒนาชีวิตผู้ต้องขังหญิง ดำเนินงานโดย รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ และคณะ; โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดำเนินงานโดยรศ.อภิญญา เวชยชัย และคณะ; และโครงการ "จากใจสู่ใจ…คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง" ดำเนินงานโดยนักวิจัยจากศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล

วีดิโอที่เกี่ยวข้องกับโครงการ