โครงการสำรวจออนไลน์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของคนไทยต่อประเด็นทางประชากร

โครงการสำรวจออนไลน์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของคนไทยต่อประเด็นทางประชากร

หลักการและเหตุผล

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านประชากรและสังคมและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งการสื่อสารสู่สังคม ประโยชน์ในเชิงวิชาการ การนำไปปฏิบัติ ตลอดจนการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ด้วยพันธกิจดังกล่าว สถาบันฯ จึงจัดตั้งคณะทำงาน Research Innovator เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนงานวิชาการและวิจัยของสถาบันฯ และเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะให้มากขึ้น โดยในปี 2567-2568 ได้กำหนดประเด็นทางประชากรเกี่ยวกับ “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่หลายภาคส่วนกำลังขับเคลื่อนนโยบาย

การสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านประชากร และปัญหาด้านประชากรสังคมที่เป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ตลอดจนความคิดเห็นต่อแนวทางปฏิบัติ หรือนโยบายในการแก้ปัญหา รวมถึงปรากฏการณ์ทางประชากร ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทย เช่น ปัญหาเด็กเกิดน้อย คนแต่งงานและมีบุตรช้าลง วัยแรงงานย้ายถิ่น สังคมไทยเข้าสู่งสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีความสำคัญทางประชากรที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ และจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรไทยในอนาคต ทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้น ประชากรในวัยทำงานต้องทำงานหนักมากขึ้น ผลที่ตามมา คือ เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ทำให้ประเทศต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้ เป็นความท้าทายของประเทศในการเผชิญผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และความท้าทายในการแก้ปัญหาในอนาคต  

สถาบันฯ ในฐานะหน่วยงานวิชาการและวิจัยด้านประชากร มีการระดมความคิดเห็นในการจัดทำ “แบบสอบถาม ประเด็นด้านประชากร (Quick Survey) สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ”  การสำรวจแบบสอบถามออนไลน์ให้ผู้ที่สนใจในประเด็นทางด้านประชากรสามารถตอบแบบสอบถามแบบตอบด้วยตนเอง (Self-administered questionnaire)โดยการตอบผ่าน link แบบสอบถามออนไลน์ที่จะเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เช่น Website Facebook Twitter LinkedIn Line TikTok รวมถึงเผยแพร่ผ่านเครือข่ายการทำงานของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม แบบสำรวจดังกล่าวผ่านการตรวจสอบคุณภาพและให้ความเห็นโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่สามารถรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลที่ครอบคลุมวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ การสำรวจทางออนไลน์ จะเก็บข้อมูลในกลุ่มประชากรตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 1,500 คน และกำหนดกรอบเวลาการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2567 จากนั้นจะวิเคราะห์ และเรียบเรียงเพื่อนำเสนอผลการสำรวจ รวมทั้งผลงานวิจัยของสถาบันฯ ที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ และในปี 2568 จะมีการสำรวจออนไลน์ครั้งที่ 2 ในประเด็นทางประชากรที่สำคัญและน่าสนใจในประเด็นอื่น ๆ ต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อจัดทำแบบสำรวจความเห็นของคนไทยเกี่ยวกับประเด็นด้านประชากรและสังคมที่เป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ตลอดจนความคิดเห็นต่อแนวทางปฏิบัติ หรือนโยบายในการแก้ปัญหา 
  2. เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจ
  3. เพื่อจัดทำข้อมูลสำคัญ ให้ผู้บริหารนำเสนอต่อสื่อมวลชนและสาธารณะ
  4. เพื่อพัฒนาบทความวิชาการจากผลสำรวจ “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” และเผยแพร่ต่อสาธารณะ 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. มีข้อมูลการสำรวจที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการหลากหลายรูปแบบ
  2. สถาบันฯ สามารถนำข้อมูลผลการสำรวจไปใช้ในการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อให้สถาบันฯ เป็นที่รู้จักได้กว้างขวางมากขึ้น
  3. นักวิจัยสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในการผลิตผลงานวิชาการ