โครงการ การจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2565

โครงการ การจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2565

Principal Investigator: Chalermpol Chamchan
Researcher: Wathinee Boonchalaksi
Duration: February 2023 – September 2023

รายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2565 เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นจากการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนไทยในมิติต่างๆ เพื่อสะท้อนสถานการณ์และบริบทที่เกี่ยวข้อง สภาพการณ์และแนวโน้มของปัญหา รวมถึง การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยในการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน

การศึกษานี้ ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนในประเทศไทย ให้สมบูรณ์
ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ตลอดจนช่วงวัยต่าง ๆ ได้แก่ ช่วงเด็กปฐมวัย (0 – 6 ปี) ช่วงวัยประถมศึกษา
(7 – 12 ปี) ช่วงวัยรุ่น (13 – 17 ปี) และช่วงเยาวชน (18 – 25 ปี) และในกระบวนการต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริม พัฒนา ป้องกัน คุ้มครอง บำบัด ฟื้นฟูของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
มีความสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากจะได้ทราบสภาวการณ์แล้ว ยังสามารถคาดการณ์แนวโน้ม และเสนอแนวทางเพื่อประกอบการวางแผน เฝ้าระวัง ป้องกัน ให้ความรู้ นำไปผลักดันการลงทุนทั้งด้านงบประมาณ และระยะเวลาการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนเป็นภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้พระราชบัญญัติส่งเสริม
การพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 20 กำหนด
ให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีหน้าที่จัดทำรายงานการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ เสนอคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

วัตถุประสงค์

รายงานการศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

  1. เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนในบริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ความท้าทาย และกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในทุกมิติทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในช่วงวัยต่าง ๆ
  2. เพื่อจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2565 โดยประกอบด้วยสาระสำคัญ ได้แก่ สภาพการณ์และแนวโน้มของปัญหาเด็กและเยาวชน ผลการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน และการใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
  3. เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์และแนวโน้มของปัญหาและเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในอนาคต

แนวทางในการดำเนินงาน

แนวทางในการดำเนินงานประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1)  การทบทวนเอกสารและและรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้อง (documentary research) และ 2) การเก็บข้อมูลปฐมภูมิเชิงคุณภาพ (qualitative field research)

1) ทบทวนเอกสารและรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้อง

ทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องและรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน ประจำปี 2565 (มกราคม – ธันวาคม 2565) ในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ความท้าทาย และกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในทุกมิติทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในช่วงวัยต่าง ๆ

2) เก็บข้อมูลปฐมภูมิเชิงคุณภาพ

เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อวิเคราะห์การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการพัฒนาเด็ก รวมถึงบทบาทและผลการดำเนินงานของภาคประชารัฐต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) และการอภิปรายกลุ่ม (Focus Group Discussion) โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ1) ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น2) ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย/เครือข่ายเด็กและเยาวชน 3) ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนและ 4) ตัวแทนสถาบันทางวิชาการที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน

ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์เพื่อประกอบและจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2565โดยสาระสำคัญในรายงานประกอบด้วย สภาพการณ์และแนวโน้มของปัญหาเด็กและเยาวชน ผลการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานของสภาเด็กและเยาวชน การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน การใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มของปัญหาในการพัฒนาเด็กและเยาวชน และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชน