เกี่ยวกับงานประชุม
โควิด-19: การฟื้นตัวและโอกาสของประชากรและสังคม
หลักการและเหตุผล
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ยึดมั่นปณิธาน “คุณภาพ คุณธรรม นำสถาบันฯ” สถาบันฯ ได้มีการวางรากฐานในด้านต่าง ๆ ไว้อย่างมั่นคงในแต่ละยุคสมัย และมีการสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากร สังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สถาบันฯ ดำเนินบทบาทสำคัญทางวิชาการให้กับสังคมไทย ด้วยการพัฒนาสร้างเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในลักษณะสหวิทยาการด้านประชากรและสังคม อีกทั้งนำเสนอความรู้และข้อค้นพบสำคัญ ๆ จากการศึกษาวิเคราะห์วิจัยต่อสังคมไทยและนานาชาติไปเผยแพร่ทั้งในแวดวงวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงรุก และตอบสนองอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ วัฒนธรรม และการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศ และในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก สถาบันฯ มุ่งเป้าให้เกิดความเข้มแข็ง ทั้งในแง่องค์ความรู้และผลลัพธ์ของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้บุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติอยู่ดีมีสุขเพิ่มมากขึ้น
สถาบันฯ เล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดข้อค้นพบและบทวิเคราะห์ต่าง ๆ ด้านประชากรและสังคม จึงได้ริเริ่มจัดประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม” ขึ้นทุกปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นเวทีที่นักวิชาการด้านประชากรและสังคมสามารถคืนความรู้สู่สังคมได้ โดยในทุกปีมีการเลือกสรรประเด็น (Theme) การประชุมที่แตกต่างกันไป แต่สอดคล้องและทันกับสถานการณ์ของสังคมในขณะนั้น
สำหรับการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม 2565” ปี 2565 นี้ สถาบันฯ ภายใต้ชื่อ
“โควิด-19: การฟื้นตัวและโอกาสของประชากรและสังคม”
“COVID-19: Resilience & Opportunity of Population and Society”
โดยแบ่งประเด็นในการนำเสนอผลงานวิชาการของสถาบันฯ ออกเป็น 6 ประเด็น ตามกลุ่มงานวิจัย (research clusters) ของสถาบันฯ คือ
- สังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงประชากรและครอบครัว
- ภาวะสูงวัยของประชากร
- เพศวิถี เพศภาวะ อนามัยเจริญพันธ์ และเอชไอวีเอดส์
- ประชากร สิ่งแวดล้อม และ สุขภาพ
- การย้ายถิ่น ความเป็นเมือง และแรงงาน
- ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยติดตามและประเมินผล
วัตถุประสงค์
- เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ มุมมองทางวิชาการและข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยของสถาบันฯ สู่สาธารณะ ในประเด็นด้านประชากรและสังคมมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคตจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
- เพื่อเป็นเวทีวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของบุคลากรสถาบันฯ กับเครือข่ายทางวิชาการ หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า รวมถึง บุคคลทั่วไปที่สนใจ ภายใต้หัวเรื่องการประชุม “การฟื้นตัวและโอกาสทางประชากรและสังคม”
ผู้เข้าประชุม
ผู้กำหนดนโยบาย เครือข่ายทางวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป