งานวิเคราะห์การศึกษารูปแบบการจัดฝึกอบรมระยะสั้นแบบออนไลน์: กรณีศึกษาการจัดฝึกอบรมการ วิจัยเชิงคุณภาพ หลักสูตรภาษาไทย แบบออนไลน์

Abstract

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการบริหาร ที่พัฒนาก้าวหน้ามาครบ 5 ทศวรรษ (2514-2564) การสร้างสรรค์งานบริการวิชาการในส่วนงาน “จัดฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตรภาษาไทย” ที่เป็นการนำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญจากการศึกษาวิจัยด้านประชากรและสังคมผ่านโครงการการจัดฝึกอบรมระยะสั้น ผู้วิเคราะห์ได้เสนอกรณีศึกษาการจัดฝึกอบรมระยะสั้นหลักสูตรการวิจัยเชิงคุณภาพ หลักสูตรภาษาไทย ที่ดำเนินงานมากกว่า 10 ปี (2551-2562) และได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเทียบกับหลักสูตรอื่นๆ มีจำนวนผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 340 คน จากจำนวนผู้เข้าอบรมทั้งหมดทุกหลักสูตรภาษาไทย รวมจำนวน 1,036 คน นับเป็นเป้าหมายแห่งความสำเร็จด้านการบริการวิชาการและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทำให้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อความสอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงและต้องก้าวทันโลกเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งใหม่ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงจนขยายเข้าสู่วงการสถานศึกษา สถาบันฯ ได้ให้ความสำคัญการพัฒนารูปแบบการให้องค์ความรู้ในช่องทางการประชุม อบรม สัมมนา หรือการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) และพลังผลักดันกับช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงเร่งพัฒนาการจัดฝึกอบรมระยะสั้นให้เดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องโดยปรับการอบรมรูปแบบเดิม (แบบชั้นเรียน หรือ face-to-face) ให้เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นในรูปแบบออนไลน์ (Online) คือเหตุผลสำคัญที่สถาบันฯ เพิ่มจุดแข็งทางวิชาการให้งานจัดฝึกอบรมระยะสั้นยังคงอยู่ภายใต้งานบริการวิชาการตลอดไป ผู้วิเคราะห์จึงได้ศึกษารูปแบบการจัดฝึกอบรมระยะสั้นการวิจัยเชิงคุณภาพ หลักสูตรภาษาไทย แบบออนไลน์ และเพื่อสำรวจความสนใจเข้าฝึกอบรมภายใต้ขอบเขตของการวิจัยที่อยากศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดฝึกอบรมและความสนใจหรือไม่สนใจที่จะเข้าฝึกอบรมแบบออนไลน์ของสถาบันฯ จึงได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จากฐานข้อมูลรายชื่อสมาชิกผู้ผ่านการฝึกอบรมระยะสั้น หลักสูตรภาษาไทย และการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษารูปแบบการจัดฝึกอบรมระยะสั้นแบบออนไลน์โดยใช้แบบสอบถามกับผู้ที่เคยผ่านการเข้ารับการอบรมระยะสั้น หลักสูตรภาษาไทย ตั้งแต่ปี 2551-2562 จำนวน 289 คน จากจำนวน 1,036 คน โดยใช้วิธีการคำนวณกลุ่มประชากร ตามสูตรของ Taro Yamane ส่วนการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับอาจารย์ประจำที่เป็นผู้จัดหรืออาจารย์ประจำที่ร่วมกันเป็นคณะผู้จัดฝึกอบรมของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และ/หรืออาจารย์พิเศษ ที่เคยเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดฝึกอบรม รวมทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ผู้วิจัยได้จำลองแนวคิดที่จะนำมาวิเคราะห์รูปแบบการอบรมออนไลน์ ใน 6 มิติ ตามกรอบแนวคิดของ เคอร์ทิส เจ บองค์ (Curtis J. Bonk) ที่วางรูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์โดยมองว่า ผู้บริหารหลักสูตรควรมีข้อมูลด้านการอบรมออนไลน์ใน 6 มิติ คือ 1.ความสนใจและความมุ่งมั่นขององค์กรต่อการอบรมออนไลน์ 2. ทรัพยากรและเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการอบรม 3. เอกสารการสอน และเทคนิคการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ออนไลน์ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน 4. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอุปสรรคด้านเทคโนโลยี 5. การสนับสนุนผู้เรียน ผู้สอน และผู้จัดการหลักสูตร ในการอบรมออนไลน์ และ 6. แนวโน้มและทิศทางในอนาคตของการเรียนรู้ออนไลน์
 
ผู้ดำเนินรายการ: นางสาววราวรรณ ฐาปนธรรมชัย

August 4, 2021