การสร้างประชากรสยาม (ไทย) ผ่านสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ (พ.ศ. 2416-2453)

Abstract

การเสวนาในครั้งนี้ชวนให้ย้อนกลับไปแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับกระบวนการก่อร่างสร้างประชากรสยาม (ไทย) ผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมเมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว อันเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2416-2453) และผู้ปกครองสยามได้รับอิทธิพลและกำลังเผชิญหน้ากับกระแสสังคมโลกที่ทวีความเข้มข้นของแนวคิดการล่าอาณานิคม นอกเหนือจากการขีดเส้นแขตแดน การใช้ระบอบการปกครองแบบเทศาภิบาล และการสร้างศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ แล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่แสดงถึงการปรับตัวของสยามคือ "การตีความและกำหนดกรอบของวัฒนธรรมไทย" ที่เริ่มต้นจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ และได้แผ่อิทธิพลออกไปยังพื้นที่แนวพรมแดน เช่น ล้านนา หัวเมืองลาว และหัวเมืองมลายู ที่กำลังเป็นพื้นที่หัวเลี้ยวหัวต่อของการปะทะกันระหว่างมหาอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศส รวมถึงความพยายามยืนยันอำนาจของสยามเอง กระบวนการสร้างวัฒนธรรมไทยที่นำไปสู่การก่อร่างสร้างประชากรสยาม/ไทยใน 3 พื้นที่ดังกล่าว จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นผ่านการแสดงสัญลักษณ์ทางอำนาจ อย่างแนวคิดของความเป็นกษัตริย์หรือความคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่เกิดขึ้นใน 3 พื้นที่ชายแดนของสยามในเวลานั้น มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นของ 3 พื้นที่ได้แสดงให้เห็นว่า ความหมายของวัฒนธรรมไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการหันกลับมามองเหตุการณ์ในอดีต อาจช่วยเปิดมุมมองบางประการที่นำไปสู่ความเข้าใจถึงปมปัญหาแรกของเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ในปัจจุบัน
 
Moderator: อาจารย์ ดร.ณปภัช สัจนวกุล
 

เสวนาใต้ชายคาประชากร

 

November 18, 2020