โครงการพัฒนาแกนนำและกลไกชุมชนเพื่อป้องกันและลดปัญหาการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงในชายแดนใต้

โครงการพัฒนาแกนนำและกลไกชุมชนเพื่อป้องกันและลดปัญหาการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงในชายแดนใต้

ระยะเวลาดำเนินงาน: กันยายน 2563 – กันยายน 2564
สถานะ: กำลังดำเนินการ
หัวหน้าโครงการ: สุชาดา ทวีสิทธิ์


วัตถุประสงค์:

ข้อมูลโครงการ:
 
ผู้รับผิดชอบโครงการ  รองศาสตราจารย์ ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์
ที่ตั้งโครงการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
องค์กรสนับสนุนทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
ระยะเวลาการดำเนินงาน เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
 
หลักการและเหตุผล/ความสำคัญของปัญหา:
 
ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงนับเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ผู้หญิงเป็นจำนวนมากเคยมีประสบการณ์การถูกกระทำความรุนแรง ผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงมากกว่าร้อยละ 95 เป็นผู้ชาย โดยเฉพาะคนที่รู้จักหรือใกล้ชิด สาเหตุรากเหง้าของปัญหามาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่สมดุลย์ระหว่างเพศ และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ พบว่ามีการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศไทยสูงติดหนึ่งในสิบอันดับแรกของโลก การทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทยทุกระดับ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และผู้หญิงและเด็กหญิงถูกกระทำความรุนแรงในหลากหลายลักษณะ เช่น การถูกตบ ทุบตี การใช้อาวุธ การข่มขืน การข่มขู่ คุกคาม รวมไปถึงการใช้กำลังบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น 
 
ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ หรือในภาวะวิกฤติฉุกเฉินต่างๆ เช่น ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ภาวะสงคราม การสู้รบ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ พบว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงมีความเสี่ยงต่อการถูกทำความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พบว่าผู้หญิงในพื้นที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้นำครอบครัวเนื่องจากสามีเสียชีวิต บางส่วนต้องออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวแทนบิดาหรือสามีที่ไม่สามารถทำมาหากินได้เป็นปกติ เพราะกังวลเรื่องการตกเป็นเหยื่อการก่อความไม่สงบในพื้นที่ หรือตกเป็นบุคคลที่ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ สถานการณ์ชายแดนใต้เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้หญิงในพื้นที่ต้องแบกรับภาระและความรับผิดชอบมากขึ้น นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่ของภรรยา และมารดาที่ดี 
 
การออกไปทำงานนอกบ้านของผู้หญิงอาจจะนำไปสู่การหึงหวง ทะเลาะวิวาท การหย่าร้าง และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ในขณะที่ชุมชนเองยังขาดมาตราการและกลไกสนับสนุนผู้หญิง หรือช่วยจัดการกับปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นให้เกิดความยุติธรรมกับผู้หญิง ชุมชนยังมองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างสามีภรรยาเป็นเรื่องภายในครอบครัว ยังให้สิทธิ์แก่สามีในการจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้น การให้อำนาจกับผู้ชายมากว่าในเรื่องของการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหย่าร้าง หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ชายมีภรรยาได้มากกว่า 1 คน ล้วนเป็นเหตุผลสำคัญที่กดทับให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจ และถูกลดทอนคุณค่าลง ประกอบในขณะนี้ หลายพื้นที่ในชายแดนใต้อยู่ภายใต้สถานการณ์และผลกระทบจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่ โควิด-19  โดยมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่หลายๆ ด้าน เช่น การขาดรายได้ การไม่มีงานทำ การถูกกักพื้นที่ ความเครียด และความวิตกกังวลในด้านต่าง ๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ นอกจากนั้นปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ก็นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องเผชิญไม่ว่าอยู่ในฐานะแม่ ภรรยา พี่สาว น้องสาว ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และปัญหาทางสังคมของผู้หญิงในหลากหลายวัยและกลุ่ม ดังนั้น การพัฒนาให้ผู้หญิงมีทักษะในการป้องกัน/ลดปัญหามีทางออก การสร้างแกนนำคอยให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาเข้าถึงความยุติธรรม และการให้ผู้ชาย หัวหน้าครอบครัว ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน ตลอดจนการพัฒนากลไกระดับตำบลให้จัดการเรื่องนี้อย่างเข้มแข็งจึงมีความสำคัญ 
 
วัตถุประสงค์:
 
  1. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพแกนนำในระดับชุมชนให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและลดปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัวอย่างได้ผล
  2. เพื่อพัฒนากลไกและเครือข่ายป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงที่เผชิญกับปัญหาถูกทำความรุนแรง และได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมผู้หญิงในชุมชนที่ประสบปัญหา
เป้าหมายระดับโครงการ:
  1. เกิดกลไกและเครือข่ายระดับตาบลที่ทำงานป้องกัน ช่วยเหลือ และ เยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวอย่างเข้มแข็ง
  2. แกนนำในชุมขนได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการป้องกัน และลดปัญหา การทำความรุนแรงต่อผู้หญิง ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างเข้มแข็ง
กลุ่มเป้าหมาย:
  1. กลุ่มเป้าหมายหลัก แกนนำผู้หญิงทั้งชาวพุทธ และมุสลิม ในตำบลทุ่งพลา และตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จำนวน 30 คน ได้รับการพัฒนาเป็นแกนนำในการดำเนินงานในพื้นที่
  2. กลุ่มเป้าหมายรอง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น, 
  3. กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ ผู้หญิง และบุคคลในครอบครัวของชาวพุทธและมุสลิม ใน 2 ตำบล ของอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี คือ ตำบลทุ่งพลา และตำบลควนโนรี จำนวน 1,500 ครอบครัว
พื้นที่ดำเนินงาน:
 
ดำเนินงานใน 2 ตำบลในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี คือ ตำบลทุ่งพลา และตำบลควนโนรี
 
การดำเนินงาน และวิธีการเก็บข้อมูล: 
 
การวิจัยนี้ใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมแนวสตรีนิยมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มแกนนำในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนากลไกระดับตำบลในการแก้ไขปัญหาการทำความรุนแรงต่อผู้หญิง และการทำความรุนแรงในครอบครัว มีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แกนนำ เช่น ในด้านการฟัง การสื่อสาร การสนทนาแบบสุนทรียะเพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว การสำรวจชุมชน การวิเคราะห์ปัญหาของผู้หญิง รวมไปถึงการฝึกอบรมด้านต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพของแกนนำในพื้นที่ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีการศึกษาสถานการณ์การทำความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่ดำเนินงาน โดยเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จะทำการสัมภาษณ์กลุ่มผู้หญิงในพื้นที่จำนวน 400 คน ข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานนำมาใช้ในการออกแบบกิจกรรม (interventions) และใช้เพื่อการประเมินผลโครงการ นอกจากนั้นจะนำไปใช้สร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ต่อไป

โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาและปฏิบัติการภายใต้ทุนสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพแกนนาในระดับชุมชนให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งพัฒนากลไกและเครือข่ายที่ป้องกันช่วยเหลือผู้หญิงที่เผชิญกับปัญหาถูกทำความรุนแรง และได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้กลไกระดับชุมชนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมผู้หญิงในชุมชนที่ประสบปัญหา ดำเนินงานในตำบลนำร่องทั้ง 2 ตำบล ในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้แก่ ตำบลทุ่งพลา และตำบลควนโนรี ซึ่งมีครัวเรือนประมาณ 2000 ครัวเรือน ซึ่งทั้งสองตำบลมีบริบทเป็นพหุวัฒนธรรมที่ครัวเรือนไทยพุทธและไทยมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกัน สิ่งที่คาดหวังจากการดำเนินโครงการ คือ

  1. มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มครอบครัวและผู้หญิงที่มีความเสี่ยงหรือกำลังเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพื่อนำมาวางแผนการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหา
  2. มีแกนนำระดับหมู่บ้านที่มีศักยภาพให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว หรือช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว อย่างน้อย 30 คน
  3. มีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
  4. ดำเนินกิจกรรมปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในระดับตำบลและหมู่บ้านที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือ ป้องกัน และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
  5. มีกลไกและเครือข่ายที่ทำงานป้องกัน ช่วยเหลือ ส่งต่อ และเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว

โดยมีตัวชี้วัดของโครงการดังนี้

  1. อบต. มีแผนงานและงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กหญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรง
  2. มีเครือข่ายสหวิชาชีพระดับตำบลที่สามารถทำงานคุ้มครอง ช่วยเหลือ และส่งต่อผู้หญิงและเด็กหญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงเข้าสู่ระบบบริการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. มีแกนนำจิตอาสาทำงานป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในตำบลนำร่องครบในทุกหมู่บ้าน (อย่างน้อยหมู่บ้านละ 2 คน)
  4. ร้อยละ 80 ของผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือ
  5. เกิดนวัตกรรมด้านการป้องกันการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง หรือนวัตกรรมการช่วยเหลือเด็กหยิงและผุ้หญิงที่ถูกทำความรุนแรงตำบลละ 1 นวัตกรรม

ทฤษฎีที่ใช้: เอฟพาร์ FPAR (Feminist Participatory Action Research)

วิธีคิด: การมีส่วนร่วม อย่างมีความเอียดอ่อนต่อผู้หญิงและเด็กหญิง

วิธีทำงาน: ใช้กระบวนการวิจัยท้องถิ่นสร้างเสริมพลังชุมชน ชาวบ้านร่วมทำวิจัยอย่างง่าย ร่วมเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมนำข้อมูลมาวางแผน ออกแบบกิจกรรมพัฒนา ร่วมมือปฏิบัติการป้องกันและแก้ไข โดยชุมชนรับผลประโยชน์ร่วมกัน เน้นการทำงานกับกลุ่มแกนนำในพื้นที่ หลังจากพัฒนาทักษะให้แกนนำเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ทักษะการเก็บข้อมูล และการทำแผนที่เดินดินเพื่อค้นหาครอบครัวและผู้หญิง ที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะถูกทำความรุนแรง