วิจัย 4 ปีเก็บภาษีไม่หวาน ช่วยคนไทยลดดื่มทุกกลุ่มอายุ

รศ. ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มรสหวานของคนไทยในช่วงปี 2561–2566 ภายหลังจากการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีสรรพสามิต โดยใช้ข้อมูลจากแบบสอบถาม 3,720 ครัวเรือน และการวิจัยเชิงคุณภาพแบบติดตามต่อเนื่อง 4 ปี พบว่า คนไทยมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มรสหวานลดลง เครื่องดื่มที่มีภาษี เช่น น้ำอัดลม แม้แนวโน้มการดื่มลดลง แต่ยังคงมีอัตราการบริโภคสูงสุด ส่วนเครื่องดื่มชูกำลังและกาแฟกระป๋องยังมีการดื่มเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มไม่เก็บภาษี เช่น ชา/กาแฟชงสด และน้ำสมุนไพร ยังมีการบริโภคสูง
..
การเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มมีปัจจัยด้านราคาเป็นตัวกระตุ้นหลัก โดย 70.5% จะลดการบริโภคหากราคาสูงขึ้น คนไทยยอมจ่ายไม่เกินเฉลี่ย 31.24 บาทต่อวัน หากราคาปรับขึ้น จากปัจจุบันเฉลี่ย 23.55 บาท การปรับสูตรลดหวานส่งผลให้ 58.8% เปลี่ยนไปดื่มเครื่องดื่มประเภทอื่น เช่น ชงสด และ 15.6% ดื่มแบบใส่สารทดแทนความหวาน แม้ม้จะมีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลากเครื่องดื่ม แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ใช้ในการตัดสินใจซื้อ โดยมีเพียง 3 ใน 8 คนเท่านั้นที่ใช้ประกอบการเลือกซื้อ ข้อเสนอจากงานวิจัยคือ การปรับเพิ่มภาษีในระยะที่ 4 และพิจารณาเก็บภาษีเครื่องดื่มชงสด พร้อมควบคุมการตลาดผ่านสื่อโฆษณา เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ดีขึ้นในระยะยาว

ข่าวจาก ไทยโพสต์
ติดตามอ่านต่อไปที่ https://www.thaipost.net/news-update/768590/
เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568