เด็กข้ามชาติและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน: ข้อค้นพบจากการสำรวจภาคสนาม

Abstract

การนำเสนอนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ภาพรวมเด็กข้ามชาติ (อายุ 0-14 ปี) ในประเทศไทย และข้อค้นพบที่สำคัญเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก ในเรื่องการเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิด การศึกษาและประกันสุขภาพ จากการสำรวจภาคสนามภายใต้ 3 โครงการวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมที่ดำเนินการในช่วงปี 2560-2563 (ก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19) ประกอบด้วยโครงการวิจัย (1) การสำรวจข้อมูลพื้นฐานโครงการ ECPMC ปี 2560 (2) ประชากรเด็กข้ามชาติ: การเลี้ยงดูการเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ปี 2561-2562 และ (3) โครงการประเมินสถานการณ์เข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดในกลุ่มเด็กข้ามชาติ: การศึกษาเชิงปริมาณ ปี 2562-2563 โดยประชากรเป้าหมายของการสำรวจทั้ง 3 โครงการวิจัย ได้แก่ ครัวเรือนประชากรข้ามชาติ (ส่วนใหญ่จากประเทศเมียนมา) ที่มีเด็กอายุ 0-14 ปี ที่ไม่มีสัญชาติไทยอย่างน้อย 1 คนที่เกิดในประเทศไทยอาศัยอยู่ โดยมีข้อคำถามหลักในการสำรวจเกี่ยวกับ สถานที่เกิดของเด็ก การได้รับเอกสารรับรองการเกิดและการจดทะเบียนการเกิด สถานภาพด้านการศึกษา การมีหลักประกันสุขภาพ แผนการเลี้ยงดูและอยู่อาศัยในประเทศไทย/กลับประเทศต้นทางของครัวเรือนเด็ก ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและผู้ดูแลหลัก รวมถึง ปัจจัยด้านการย้ายถิ่น
 
โดยสรุป ใน 5 จังหวัดพื้นที่การสำรวจเขตชายแดนไทย-เมียนมา พบว่า เด็กข้ามชาติส่วนใหญ่ร้อยละ 65 ถึงมากกว่าร้อยละ 90 เป็นกลุ่มที่เกิดในประเทศไทย ในจำนวนนี้ ไม่ถึงร้อยละ 80 (ร้อยละ 60-75) รายงานว่าได้รับการจดทะเบียนการเกิด เกี่ยวกับสถานภาพการศึกษา สัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาหรือไม่ได้กำลังเรียนหนังสือมีประมาณร้อยละ 17- 50 สำหรับกลุ่มที่กำลังศึกษา ในสัดส่วนที่มากกว่า (ร้อยละ 46 ถึงมากกว่าร้อยละ 90) เป็นการเรียนหรือศึกษาในศูนย์การเรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือโรงเรียนที่มีการศึกษาตามหลักสูตรของเมียนมาหรือหลักสูตรผสม ขณะที่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าเป็นการเรียนในโรงเรียนไทยหรือหลักสูตรไทย เกี่ยวกับการมีประกันสุขภาพ เด็กส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ถึงมากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีประกันสุขภาพ ในกลุ่มที่มีประกันสุขภาพ เกือบทั้งหมด (ในทุกพื้นที่สำรวจ ยกเว้นอำเภอแม่สอด) เป็นบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติของกระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่อำเภอแม่สอด ประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่มีประกันสุขภาพเป็นภายใต้โครงการ M-Fund หรือประกันสุขภาพภาคประชาชน จากการวิเคราะห์สถิติหลายตัวแปรโดยใช้ข้อมูลการสำรวจในอำเภอแม่สอด พบ 4 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกที่สำคัญต่อการเข้าถึงการศึกษา (ในระบบโรงเรียนหรือหลักสูตรไทย) และการมีหลักประกันทางสุขภาพของเด็กข้ามชาติ ซึ่งได้แก่ การได้รับการจดทะเบียนการเกิด แผนของครัวเรือนในการให้เด็กข้ามชาติอาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอดหรือในประเทศไทยหลังจากอายุ 15 ปีขึ้นไป การรับรู้ของผู้ดูแลหลักเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก และความสามารถในการใช้ภาษาไทยของผู้ดูแลหลักของเด็ก
 
Moderator: Kayapat Suttikasem
 
Please join via Zoom or Facebook Live
 
Zoom
Meeting ID: 818 3421 9851
Password: IPSR2020
 
Facebook : IPSRMAHIDOLUNIVERSITY

เด็กข้ามชาติและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน: ข้อค้นพบจากการสำรวจภาคสนาม

October 7, 2020