ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาระดับปริญญาตรี: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาระดับปริญญาตรี: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

บทนำ

วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินระดับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา พร้อมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริมกับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังศึกษาความสามารถในการทำนายของปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริม ต่อพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ
 
ระเบียบวิธีวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยพื้นฐาน (Basic research) เก็บข้อมูลจากนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยมหิดล เฉพาะคณะ/วิทยาลัยที่มีการเรียนการสอน ณ วิทยาเขตศาลายา ตลอด 4 ปี เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษา 348 คน ส่วนแบบสอบถามได้ตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาโดยใช้ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน จากนั้นหาความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้วย Cronbach’s alpha ได้ค่าเท่ากับ 0.828 ท้ายที่สุดวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบ t-test การทดสอบ One way ANOVA การทดสอบไคสแควร์ และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ
 
อภิปรายผล: พบว่า ระดับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อยู่ที่ 38.14 จัดอยู่ในระดับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพปานกลาง ด้านปัจจัยนำ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างยิ่ง ที่ระดับ 0.01 ด้านปัจจัยเอื้อ (Enabling) พบว่าลักษณะทางกายภาพและการรับรู้นโยบายสร้างเสริมสุขภาพในมหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างยิ่งที่ระดับ 0.01 ด้านปัจจัยเสริม (Reinforcing) พบว่ามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างยิ่ง ที่ระดับ 0.01 ได้แก่ การได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนด้านสุขภาพจากบุคคลอื่น และในการทำนายพบว่าปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริม มีความสามารถร่วมกันทำนายระดับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาได้ร้อยละ 27.1 และมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ อยู่ที่ 0.520 โดยที่ทั้งปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริมมีอิทธิผลต่อระดับพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อย่างมีนัยสำคัญที่ 0.05
 
คำสำคัญ: พฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ, ปัจจัยนำ, ปัจจัยเอื้อ, ปัจจัยเสริม, วัยรุ่น, PRECEDE-PROCEED model, มหาวิทยาลัยมหิดล, ศาลายา
 
ผู้ดำเนินรายการ : นายณัฐพงษ์ รุจิรงค์นางกูล

April 19, 2017 at Rajawadee (326) Room